เอ็นไอเอ ชี้ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยตอบโจทย์ 4 กลุ่มธุรกิจ เร่งหนุน “เกษตรแบบดั้งเดิม”สู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” รับดีมานด์โลก

จันทร์ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๕๘
- เอ็นไอเอ ร่วมมูลนิธิข้าวไทย จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2561 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว พร้อมเผยโอกาสในการขยายตัวของข้าวไทย ต้องพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ แปรรูป และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อลดการแข่งขันด้านราคา ปริมาณ และช่องทางตลาดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวไปสู่กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงาม นอกจากนี้ ยังได้วางเป้าหมายในการยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ ที่ในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนจาก "เกษตรแบบดั้งเดิม"ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2560 ไทยส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ปริมาณ 11.63 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกข้าวขาวมากที่สุดปริมาณกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 43% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการแข่งขันด้านราคาและปริมาณกับประเทศเพื่อนบ้านในตลาดโลกสูง เนื่องจากทั้งไทย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา สามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน และเป็นข้าวคุณภาพปานกลางที่เหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีกำลังซื้อจำกัด ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงติดอยู่กับการแข่งขันด้านราคา ปริมาณ และช่องทางตลาด แต่ยังขาดการแข่งขันในด้านการสร้างคุณค่าและการเพิ่มมูลค่าด้วยความแตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาอย่างจริงจังในปัจจุบัน

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า การดำเนินแนวทางประชารัฐที่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง NIA ผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทย จะสามารถเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้าวได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะกระจายไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ชาวนาผู้ปลูกข้าว ทั้งนี้ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ก็คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะในกลุ่มของอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงาม รวมถึงการนำรูปแบบธุรกิจใหม่และเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกย์ใช้ ยังจะช่วยให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีโอกาสลดความผันผวนของราคาข้าว เพราะไม่จำเป็นต้องขายในรูปของข้าวสารเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ NIA ได้วางเป้าหมายในการยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในอนาคต "ข้าว" จะต้องไม่ใช่เพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่จะต้องปรับเปลี่ยนจาก "เกษตรแบบดั้งเดิม"ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในช่วงที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในข้าวให้ก้าวสูงขึ้นด้วยการพัฒนาธุรกิจใหม่บนฐานความรู้ และการใช้นโยบายนวัตกรรมข้าวไทยในเชิงรุกผ่านการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้ว จำนวนมากกว่า 50 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 390 ล้านบาท

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ประกอบการข้าวกล้องอินทรีย์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจข้าวไทยในยุคใหม่ต้องมุ่งไปที่เป้าหมายที่สำคัญ คือ

- การปรับมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งจะต้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีความคุ้มค่ากับการเลือกซื้อให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ โดยยังจะต้องยกระดับข้าวให้เป็นสินค้าพรีเมียมให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณค่าและความแตกต่างที่ได้รับ

- การพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญกับการให้องค์ความรู้ ข้อมูล กระแสความต้องการที่กำลังเปลี่ยนไปในตลาดอาหารหรือการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังต้องสร้างเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานชาวนาให้สามารถสานต่อธุรกิจเกษตรให้เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่า ตลอดจนเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

- พัฒนาความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ให้เป็นผู้นำหลักในการผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีคุณภาพ อาหารแปรรูปที่มีรสชาติดี การใช้นวัตกรรมเพื่อผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในอนาคตจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ตามการผันแปรของประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ผลิตข้าวให้ได้รู้จักการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ช่องทางการค้า เทคโนโลยีสมัยใหม่ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่คุ้นเคย หรืออาจใช้การผสมผสาน เพื่อให้ประสิทธิภาพทางการผลิตข้าวไทยมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "ที่ผ่านมามูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ NIA ได้ร่วมกันจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ปีที่ 12 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมข้าวไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต โดยในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นมีผลงานนวัตกรรมข้าวไทยส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้นกว่า 400 ชิ้น และมีผลงานที่ได้รับรางวัลมากกว่า 45 ผลงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าข้าวในประเทศมีเพิ่มมากขึ้นขึ้น ทั้งยังทำให้ได้เห็นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ การตื่นตัวดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ดีและควรได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป"

สำหรับรางวัลของการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทย และศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และอันดับสองได้เงินรางวัล 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท โดยในปีนี้ ได้เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2561

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2561 :Rice Innovation Awards 2018 พร้อมเสวนา ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยในยุค 4.0 โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยยังได้นำชมเมนูพิเศษจากนวัตกรรมข้าวไทย ได้แก่ เจลาโต้ข้าวเม่ากะทิ ข้าวเม่าเปียกลำไย ข้าวเม่าพองกลิ่นอบเชย ณ Wecosystem ชั้น 9 เกษรวิลเลจ ถ.เพลินจิต กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือfacebook.com/niathailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version