โรคปวดข้อยุงลายไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย เพราะประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมีพาหะนำโรคคือยุงลายอยู่ชุกชุม ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคปวดข้อยุงลายประปราย กระจายอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการระบาดในวงกว้าง
การติดต่อของโรคไข้ปวดข้อยุงลายขณะนี้ เกิดจากยุงลายสวนสายพันธุ์แอฟริกาซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชาชนยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อสายพันธุ์นี้ ยุงลายสวนมักจะเกาะอยู่ตามต้นไม้กิ่งไม้ รอบๆบริเวณบ้าน เมื่อยุงลายสวนกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นยุงลายสวนระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นติดโรคได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบมีตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
อาการที่เด่นชัดคือ มีไข้ ออกผื่นและจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบจุดเลือดออก บริเวณผิวหนัง
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน โรงเรือน โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นสถานที่ที่ไม่ควรจะพบลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฤดูฝนยาวนาน พร้อมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนอกบ้านให้หมด โดยใช้มาตรการ "3 เก็บ" ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำสำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกันโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หากมีอาการไข้ ออกผื่นให้ทายากันยุงป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ฯลฯ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422