นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า "จากกรณีที่ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันนั้น กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือครูวิภาในส่วนของคดีที่รอการบังคับคดีนั้น กองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นล้มละลายตามที่เป็นข่าว กองทุนขอชื่นชมคุณครูที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม กองทุนขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้กองทุนไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืม จากนั้นกองทุนจะมีจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระ แจ้งเตือนให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือนภาระหนี้ และส่งข้อความ SMS รวมถึงประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้รับทราบเพื่อดำเนินการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน
ทั้งนี้ กองทุนจึงขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับจำนวนมากอีกด้วย
ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ ในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป"