รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา แถลงในหัวข้อ "อำนาจสองหน้า ภาษาสองบท" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑) โดยระบุว่า
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในแต่ละสังคม แต่การที่แต่ละภาษาล้วนถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไข ระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ กระบวนการใช้อันมากมาย ภาษาจึงมี/ เป็นอำนาจที่สามารถควบคุม กำกับความคิด สร้างความหมาย ความรู้ ความจริงให้กับสมาชิกของสังคมด้วยกระบวนการและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ในแง่นี้ภาษาจึงเป็นทั้งอำนาจในตัวเองที่เรียกว่า "อำนาจของภาษา" และผู้ใช้ภาษา ที่สร้างภาษาและทำให้ภาษามีพลังอำนาจขึ้นมาอย่างสลับซับซ้อน หรือที่เรียกว่า "ภาษาของอำนาจ" อีกความหมายหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าภาษาคือที่มาของอำนาจ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของภาษาและการแปรเป็นอำนาจของผู้ใช้ภาษา ให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อสาร
ในสังคมที่มีโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม แบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม หรือตกอยู่ในอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย จะพบว่าผู้มีอำนาจจะสร้างภาษาผ่านการพูด การกระทำ การปฏิบัติการทางภาษา การปฏิบัติการทางสังคมและการเมือง สำหรับการรณรงค์ โฆษณาชวนเชื่อ ครอบงำ กดขี่ ปิดบังอำพราง รีดเร้น เค้นหา จัดระเบียบผู้คนในสังคมอย่างเข้มข้น
กระนั้น ภาษาก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว ยิ่งในยุคสมัยที่ศูนย์กลางอำนาจได้ถูกพังทลายลง ทำให้เกิดเครือข่าย พลังอำนาจใหม่ ๆ ในหลายที่ หลากทิศทาง ที่เอื้อเกื้อให้ผู้คน ประชาชน พลเมือง หรือคนตัวเล็กตัวน้อยได้ใช้ภาษาเป็นช่องทางในการต่อรอง ต่อต้าน คัดค้าน ขัดขืน และ/ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียว
โดยที่การปฏิบัติการและกระทำการทางภาษาของอำนาจ นั้นโดยทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ แต่จะในรูป "ชุดกระทำ" ที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงจากสถานการณ์หนึ่งไปสู่สถานการณ์หนึ่ง หรือสถานการณ์อันอำนวยทั้งในและนอกในบริบทในพื้นที่-สนามทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่สามารถแสดงอำนาจได้
ดังจะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล หน่วยงาน กลไกรัฐ ที่มีการใช้อำนาจทั้งในทางตรงด้วยกำลัง การใช้กฎหมายปกติ กฎหมายพิเศษ และทางอ้อมด้วยอำนาจนำทางวัฒนธรรม มีการปิดกั้นการมีส่วนร่วม สกัดกั้น ตัดตอนการเคลื่อนไหวของประชาชน พลเมือง ในแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุมด้วยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ การออกคำสั่ง การข่มขู่ จับกุมผู้การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น จำกัดพื้นที่ ปิดกั้นเสรีภาพ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งการดำเนินคดีระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือที่เรียกว่า "การฟ้องคดีปิดปาก" เพื่อยับยั้ง ขัดขวางการชุมนุม เช่น การดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน ๑๗ คน ที่เรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการเดินเท้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในข้อหา "กีดขวางการจราจร ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่จิตใจและพาอาวุธ ไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร"
นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปเคารพกฎหมาย การจริงจังกับการดำเนินคดีเล็กคดีน้อย แต่เพิกเฉยดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่า การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การทวงคืนผืนป่าที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน การอ้างยืมนาฬิกาด้วยมาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ กำกวม การดำเนินคดีที่อืดอาดยืดยาดในคดีล่าเสือดำและสัตว์ป่าหายากในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแบบคาหนังคาเขา พร้อมของกลางที่เป็นซากสัตว์ อาวุธปืน กระสุนนานาชนิด คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้คำอำนาจ "คนดีที่เสียสละ" เสื่อมมนต์ขลังลงอย่างรวดเร็ว
ในเชิงระบบและโครงสร้างทางการเมือง ที่สำคัญคือ
(๑) การเขียนรัฐธรรมนูญ ภายใต้ข้ออ้างปราบโกง หรือ "รัฐธรรมนูญปราบโกง" แต่ได้ทำลายหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยลงไป การทำให้กฎหมายทั่วไปมีอำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ การสถาปนาอำนาจ-ให้ความสำคัญกับอภิสิทธิ์ชนเพียงบางกลุ่มสามารถแทรกแซงรัฐบาล สภานิติบัญญัติได้โดยง่าย เป็น ปกติและเปิดเผย ซึ่งเชื่อมโยงกับ
(๒) การบิดเบนเจตนารมณ์ของการ "เลือกตั้ง" ให้เป็น "ความชั่วร้าย" การ " โยนบาปความผิด รับชอบความดี" ผ่านการกล่าวซ้ำต่อเนื่อง และเป็นเหตุ เงื่อนไข ปัจจัยที่ต้อง "อยู่ต่อ" ด้วยภาษา/ คำอำนาจ ที่ว่า "การทำงานที่ต่อเนื่อง "เสียสละเพื่อส่วนรวม" ของกลุ่มอำนาจ ที่ยึด/ ถือ/ ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ให้ดำเนินสืบเนื่องต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง และ
(๓) การดำเนินนโยบาย ที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม" เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ด้วยวิธีการรวมศูนย์การตัดสินใจ การผูกขาดการจัดการด้วยระบบราชการและเครือข่ายเก่าๆ ผ่านทางโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนการปฏิรูป ประเทศไทย ๔.๐ และประชารัฐที่มีการทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้านอย่างมากมายมหาศาล
เมื่อพิจาณาความเชื่อมโยงภาษาของอำนาจ การปฏิบัติการทางภาษาและการเมือง ที่สอดรับอย่างเป็นระบบ ในลักษณะ "อำนาจสองหน้า ภาษาสองบท" ทั้งที่ "แจ้งชัด" และ "อำพราง สร้างความคลุมเครือ" ผนวกกับกลไก มาตรการที่มีทั้งการกด บด เบียด ผลักไส ไล่ส่งประชาชน คนเห็นต่าง ไม่เข้าพวก ที่มีมาต่อเนื่องก่อนหน้า จึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำ สร้าง "ความแปลกหน้า" ที่จะยิ่งสร้างความขัดแย้ง การเร่งเติมเชื้อไฟแห่งการเกลียดชัง ทำให้ถอยห่างจากความเป็นประชาธิปไตยอย่างอารยะ ถ่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยุติธรรมในสังคมไทยมากขึ้นเท่านั้น
แต่ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า ภาษาก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว ในทางกลับกันผู้คน ประชาชน พลเมือง ก็ใช้ภาษาเป็นช่องทางในการต่อรอง ต่อต้าน คัดค้าน ขัดขืน และ/ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง สั่นสะเทือน ท้าทายผู้มีอำนาจ กลไกรัฐราชการ ที่ถือเป็นการ "เปิดทาง" ให้เกิดการสร้างภาษาและการเคลื่อนไหว ที่ "เรียกคืนการเมือง" "เรียกคืนความสุข" ของประชาชน และ "การรับรู้" ของคนทั่วไป เช่น การเดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อ เดินไปหาอนาคต กรุงเทพฯ-ขอนแก่น เดินเทใจให้เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.สงขลา เดินด้วยรักจากปากบาราถึงเทพา รวมพลคนอยากเลือกตั้ง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูพ (P-Move) ที่ลุกทวงสัญญาแก้ไขปัญหาคนจน ฯลฯ กระทั่งสามารถสร้างคุณค่า วิธีคิด วิธีการ อุดมการณ์ ยุทธศาสตร์การพัฒนา ยุทธวิธี ภูมิทัศน์การเคลื่อนไหวที่หลากหลาย รูปแบบการสื่อสาร เทคโนโลยีที่กระชับระยะใกล้-ไกลของความสัมพันธ์ การผสมผสานประเด็น/ ขอเรียกร้องลงตัว ทำให้ภาษาของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้มีพลังและดังขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ "ภาษาของอำนาจ" ที่หลุดจากการควบคุมของผู้มีอำนาจ และไหลย้อนกลับมา บั่นทอนความน่าเชื่อถือผู้มีอำนาจเอง แม้ในระยะแรกภาษาและอำนาจนิยม อาจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปในทิศทางที่สอดรับกับอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ สร้างความหวังให้ประชาชน แต่การแอบหยิบฉวย แสวงหา ฉกฉวยผลประโยชน์จากวิกฤต การปั่นสร้างสถานการณ์ การยืด-สืบทอดอำนาจ พฤติการณ์ พฤติกรรม การแสดงอารมณ์แบบทำให้กลัวเกรง ได้เผยธาตุ "คนดีที่หลอกลวง" "ปากอย่างใจอย่าง" และกลายเป็นวิกฤตพุ่งเข้าใส่ผู้มีอำนาจในที่สุด
ทางที่ดีที่สุดในวันนี้ คือ การคืนพื้นที่ทางสังคมและการเมืองให้ประชาชน พลเมืองทุกกลุ่ม สามารถสร้างภาษาอันสามัญ เปล่งเสียง ทำนองแห่งในแบบฉบับและลีลาที่อารยะสังคม ให้การยอมรับและปฏิบัติกันโดยทั่วไป เพื่อไปให้ถึงซึ่ง "อนาคตที่ใฝ่ฝันร่วมกัน" ด้วย "ภาษาของเราทุกคน"