อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยของธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ที่ 3.71% ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2561 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักจาก ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2560 ที่ 3.73% ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะยังทรงตัวจนถึงสิ้นปีเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและการปรับเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์ การเติบโตของสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยสินเชื่อขยายตัว 3.4% จากสิ้นปีที่แล้ว แม้ว่าในบางภาคธุรกิจ เช่นสินเชื่อรถยนต์ เริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้การเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ได้รับปัจจัยหนุนมาจากยอดขายรถยนต์ที่เติบโตถึง 19.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561
ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมปรับตัวเพิ่มเป็น 1.35% สำหรับครึ่งแรกของปี 2561 เทียบกับ 1.30% ในครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ต่ำลงซึ่งสะท้อนโดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้ลงสัยจะสูญต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงเป็น 36% ในครึ่งแรกของปี 2561 จาก 39.6% ในครึ่งแรกของปี 2560 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2561 จนถึงสิ้นปี สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะช่วยลดทอนผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่อาจไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอันเป็นผลกระทบมาจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นและการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิตอลที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่เริ่มก่อตัวขึ้นในบางภาคส่วนของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างไรก็ตามดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังคงไม่ได้ผันผวนมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและธนาคารแห่งประเทศไทยยังสามารถออกมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมได้หากจำเป็น
ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็น 143% (จาก 140% ณ สิ้นปี 2560) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ในช่วง 12% ถึง 19% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่มาก ฟิทช์คาดว่าธนาคารไทยจะยังสามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงซึ่งจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคารเหล่านี้ในกรณีที่เกิดการขาดทุนที่ไม่ได้คาดการณ์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว