งานสัมมนาวิชาการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 15 ประจำปี 2561

พุธ ๐๑ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๒๒
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ในหัวข้อ "เทคโนโลยีทาง การคลัง (Fiscal Technology: FisTech)" เมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ และมีผู้ร่วมงานกว่า 700 คน โดยกล่าวว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการของ สศค. มีขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแนวคิดเชิงนโยบายของข้าราชการ สศค. และเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์นโยบายของกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อนำมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจของไทย

สศค. ได้รับเกียรติจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายการคลังในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง" โดยกล่าวถึงความสำคัญของการนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และแนวนโยบายของกระทรวงการคลังในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการดำเนินโครงการ National e-Payment เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของไทยให้รองรับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การสร้างฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยและสวัสดิการภาครัฐ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และส่งเสริมภาคเอกชนให้มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ โดยภาพรวม กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการของข้าราชการ สศค. ในหัวข้อ "ยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน" ดำเนินรายการโดย ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นางสาวภารดี นาคสาย ได้ชี้ถึงแนวทางการลดความยากจนอย่างตรงจุด โดยศึกษาตัวอย่างจากกรณีของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นประเทศที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดความยากจน โดยสามารถลดจำนวนคนจนลงกว่า 700 ล้านคนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีของประเทศไทยภายใต้ชื่อ "มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่ตรงตามความจำเป็นและความประสงค์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละราย โดยส่งเสริมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีการพัฒนาตนเองจนสามารถมีงานทำ มีรายได้เป็นของตนเอง และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ดร.กุสุมา คงฤทธิ์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังกับฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช. 2ค) ของกระทรวง มหาดไทย พบว่า จากจำนวนประชากร 35.9 ล้านคน ในฐานข้อมูล จปฐ. และ กชช. 2ค เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 8.3 ล้านคน ซึ่งสะท้อนว่า ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 8.3 ล้านคน จากทั้งหมด 11.4 ล้านคน เป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานในระดับครัวเรือนและ/หรือมีปัญหาในระดับชุมชนหรือหมู่บ้านที่อาศัย ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา "ยกคนพ้นจน" อย่างตรงจุด จึงไม่ควรละเลยการแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนและชุมชนที่อยู่อาศัยด้วย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการเชื่อมโยงฐานข้อมูล โดยการสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Proxy Means-testing ที่สามารถระบุตัวผู้มีรายได้น้อย และความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะเป็นคนยากจน ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อมูลครบถ้วน ทราบถึงสาเหตุของปัญหา สามารถบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกันและยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติแล้ว "การยกคนพ้นจน" ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

นายพงศกร แก้วเหล็ก ได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการในอนาคตเพื่อยกระดับแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการใช้วิธีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลายวิธีประกอบกัน และเสนอแนะ การจัดสรรสวัสดิการโดยใช้เครื่องมือทางการคลังโดยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 2 รูปแบบ คือ เงินโอนให้แก่ ผู้มีรายได้จากการทำงาน และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Rebate) นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับ ความยากจนในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมกว้างกว่ามิติทางรายได้ด้วยโดยยกตัวอย่างเครื่องมือ Poverty Stoplight ที่ถูกนำมาใช้ในต่างประเทศ ซึ่งอาจพิจารณานำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบ จปฐ. ซึ่งในที่สุดแล้วการบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบนโยบายในลักษณะเฉพาะเจาะจง (Tailor-made Policy) จะทำให้การลดความยากจนเป็นไปอย่าง "ถูกฝา ถูกตัว ถูกต้อง"และยั่งยืน ในที่สุด

สำหรับการสัมมนาฯ ในช่วงเช้ายังได้รับเกียรติจากผู้วิพากษ์ 2 ท่าน ได้แก่ ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

ดร. สมชัย จิตสุชน ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และมี ความพยายามที่ดีและทำได้ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ดำเนินนโยบายภาครัฐต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป โดยเห็นว่าเป็นการสร้างและปรับปรุงฐานข้อมูลผู้รับสวัสดิการแห่งรัฐ การเชื่อมฐานข้อมูลระหว่างภาครัฐ และการพัฒนาไปสู่ Big data แต่ควรเพิ่มมิติของข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงกับข้อมูล เส้นความยากจน และเพิ่มเติมข้อเสนอการดำเนินงานที่จะประสบความสำเร็จในภาคปฏิบัติได้ โดยระบุให้เห็นภาพชัดเจนว่าหน่วยงานใดควรเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรเพิ่มการจัดการกับข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การประเมินผล การเชื่อมฐานข้อมูลซึ่งควรมีการตรวจสอบความสม่ำเสมอของข้อมูลร่วมด้วย การวิเคราะห์คุณภาพของข้อมูล การเพิ่มการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของกลไกการระบุกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการใช้ระบบการระบุกลุ่มเป้าหมาย ต้องระวังเรื่องความผิดพลาดจากการคัดกรองผู้มีรายได้น้อยออกไป จึงเห็นว่าอาจใช้ข้อมูลจดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเป็นข้อมูลพื้นฐาน มากกว่าใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในการนำมาใช้ดำเนินนโยบาย

นายสุรพลฯ มีความเห็นว่า ผลการศึกษาที่ สศค. นำเสนอได้มีการตั้งคำถามที่ชัดเจนและตรงประเด็นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในการแก้ไขปัญหาความผิดพลาดในการคัดกรองที่มีการรวมผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้มีรายได้น้อยเข้ามาด้วย สามารถดำเนินการได้โดยการใช้ข้อมูลจากหลากหลายฐานข้อมูลเพื่อตัดผู้ลงทะเบียนที่ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยออกไป เช่น การใช้เครติดบูโรช่วยในการตรวจสอบรายได้ทางอ้อม โดยหากผู้ลงทะเบียนมีสินเชื่อบัตรเครดิตแสดงว่ามีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่เป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น สำหรับการแก้ไขปัญหาความผิดพลาดที่ผู้มีรายได้น้อยถูกคัดออกทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ อาจรับฟังความเห็นจากสื่อสังคมออนไลน์จากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีรายได้น้อยเอง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ Startup เข้ามาช่วยหาวิธีคัดกรองในส่วนนี้ และในการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ อาจใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนและจะไม่เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาของประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ นอกจากนี้ เป้าหมายสุดท้ายของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ คือ นอกจากจะจัดสรรสวัสดิการให้เกิดความเท่าเทียมและความเสมอภาคในสังคมแล้ว จะต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

นโยบายการคลังการเงินถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการยกเครื่องข้อมูลผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การจัดสวัสดิการได้อย่างเหมะสม เพิ่มความสามารถในการหารายได้ของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และจะช่วยให้ภาครัฐสามารถยกคนพ้นจนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ