นายมหาศาล ธีรวรุตม์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในเอสซีจี กล่าวว่า "ในปี พ.ศ. 2551 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการปลูกยูคาลิปตัสด้วยระบบการจัดการสวนไม้ อย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC ในสวนยูคาลิปตัสของบริษัทฯ เป็นที่แรก เพราะเล็งเห็นว่าระบบการจัดการ สวนไม้สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ช่วยดูแลสังคม และช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้
ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของไทยที่จะได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ และทำให้องค์กรและผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเมื่อผลสำเร็จได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทฯ จึงได้ชักชวนและขยายผลให้เกษตรกรสมาชิกรายย่อยเข้าร่วมขอการรับรองมาตรฐาน FSC โดยการเข้าไปช่วยเพิ่มเติมความรู้และปรับปรุงการปลูกไม้เชิงพาณิชย์อย่างมีมาตรฐาน"
สำหรับแนวทางของเอสซีจีในการส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐาน FSC เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประกอบด้วย ในด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตดีในแต่ละพื้นที่ปลูก การผลิตกล้าไม้คุณภาพดี การร่วมประเมินผลผลิตไม้ ในแปลง การควบคุมการตัดไม้ที่เหมาะสมและปลอดภัยตามระบบ Chain-of-Custody (CoC) และการดูแล สวนไม้หลังการตัด รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำตามหลักวิชาการ ในด้านสังคม การร่วมกันพัฒนาความรู้และจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การร่วมกันกำหนดแนวทางในการตรวจติดตามประเมินผล การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และการวางแผนตรวจติดตามการดำเนินการปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และในด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าไปร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชุมชน และหน่วยงานราชการของพื้นที่สวนไม้เพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของสวนไม้
ด้าน นายพนมศักดิ์ พรสุขสว่าง เกษตรกรจังหวัดราชบุรี เจ้าของป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่ได้รับ การรับรองตามมาตรฐาน FSC กล่าวว่า "ได้เข้าร่วมใช้หลักการจัดการ FSC กับสยามฟอเรสทรี โดยมีพนักงานบริษัทฯ ที่มาให้ความรู้ การวางแผนการปลูก ช่วยเหลือภาคปฏิบัติ เมื่อมีแผนงานที่เหมาะสมจะช่วยลดเวลาในการดูแลสวนไม้ลง และทำให้ผลิตที่ได้ดีขึ้นมาก รวมทั้งบริษัทฯ แนะนำให้ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง สุขภาพดีขึ้นทั้งตัวผมและลูกน้อง สัตว์น้อยใหญ่ เช่น นก ที่เคยหายไปก็กลับมา"
ภายใต้การส่งเสริมมาตรฐาน FSC มากว่า 10 ปี ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 35,000 ไร่ และได้เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่ได้ มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพและรายได้ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและราชการ ชาวบ้านมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและรักถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ เกิดการลดการใช้สารเคมีซึ่งช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น ซึ่งเป็นผลของการจัดการสวนไม้และชุมชนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และเกิดการรวมพลังในการดูแลและใส่ใจการจัดการไม้ที่ดียิ่งขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับ เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำด้านกระบวนการผลิตและบรรจุอาหารระดับโลก ในการส่งเสริมความรู้กระบวนการดำเนินการสวนไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบและกระบวนการจัดการต้นทางก่อนนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ติดฉลาก FSC
เอสซีจี พร้อมเดินหน้าที่จะส่งเสริมการจัดการสวนไม้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และยกระดับเกษตรกรไทยให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center โทร. 062-5960555