วันนี้เกษตรกรหนองหว้ามีความภูมิใจที่ได้บอกเล่าวิถีทางสู่ความสำเร็จให้กับทุกคนฟัง สุเชษฐ์ บัวลพ หนึ่งในเกษตรกร 50 ราย ที่เข้ามาร่วมโครงการเป็นรุ่นแรกเมื่อปี 2520 เล่าว่ายังจำภาพเมื่อ 40 ปีก่อนได้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผืนดินแห้งแล้ง ลมพัดมาทีเห็นแต่ฝุ่นแดงๆฟุ้งไปหมด ไม่ใช่แค่ไม่มีต้นไม่ใหญ่ให้ร่มเงา แม้แต่พืชที่ปลูกง่ายๆทนแล้งที่สุดอย่างมันสำปะหลังยังยากจะได้ผลผลิต เพราะพื้นที่ที่เป็นหลังเต่าและดินทรายอุ้มน้ำไม่ได้ วันแรกที่เข้ามาอยู่ในโครงการเขาแทบไม่คิดเลยว่าแผ่นดินที่แห้งแล้งในวันนั้น จะอุดมสมบูรณ์กลายมาเป็นที่ดินทำกินอย่างวันนี้
สุเชษฐ์ บอกว่าหมู่บ้านเลี้ยงหมูแห่งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตนเองและเพื่อนๆเกษตรกร ที่ทุกคนหอบความหวังเดียวกันมาด้วย นั่นคือ ความต้องการหลุดพ้นชีวิตที่ลำบากยากแค้น อยากขจัดความยากจนออกจากชีวิต ทุกคนจึงมุ่งมั่นในอาชีพทั้งเลี้ยงหมูและเพาะปลูก โดยใช้เวลาระยะเวลาเพียง 10 ปี ก็สามารถคืนเงินที่กู้ธนาคารได้ทั้งหมด ทำให้แต่ละครอบครัวได้ทั้งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 24 ไร่ บ้าน และโรงเรือนเลี้ยงหมู ที่กลายเป็นของเกษตรกรโดยสมบูรณ์
"โครงการนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือของเกษตรกรทุกคน นับตั้งแต่การช่วยกันพลิกฟื้นผืดดินและพัฒนาที่ดินว่างเปล่ากว่าพันไร่ด้วยสองมือ โดยการช่วยกันนำมูลของหมูที่เป็นอาชีพหลักที่หลายคนคิดว่าเป็นของเสียไม่มีค่ามาใช้ปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นกลับกลายเป็นผืนดินที่แค่หว่านเมล็ดอะไรลงไปก็งอกงาม จนกระทั่งความร่วมมือในทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา" สุเชษฐ์ บอกและเล่าย้อนว่า
ส่วน ภักดี ไทยสยามประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด เล่าเสริมว่า ฟันเฟืองสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนโครงการได้อย่างต่อเนื่องก็คือ ความรู้ด้านอาชีพเลี้ยงหมูที่ซีพีและซีพีเอฟนำมาถ่ายทอดสู่เกษตรกร โดยเริ่มต้นจากระดับง่ายๆ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาสู่ระดับที่ก้าวหน้าและทันสมัยขึ้น ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟก็ยังทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับผลผลิตและประกันราคารับซื้อลูกหมูจากในโครงการ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของภาวะราคา จึงมีรายได้ที่มั่นคงตามไปด้วย
เมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความเข้มแข็งแล้ว โจทย์ต่อไปที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความสำเร็จนี้ไว้ให้ได้ จึงเกิดเป็น "โครงการหนองหว้ายั่งยืน" เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกรและบุตรหลาน รักอาชีพการเลี้ยงหมู สร้างความสามัคคีในชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมฟาร์มสเตย์ ที่เกษตรกรหนองหว้าเปิดฟาร์มให้ผู้สนใจเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนคนเลี้ยงหมูที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิด กิจกรรมนี้นับเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จที่ยั่งยืนของชุมชน ทั้งวิถีชีวิต การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคน การพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง และเป็นชุมชนต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป
ตัวชี้วัดความสำเร็จของหมู่บ้านเลี้ยงหมูแห่งนี้ที่ชัดเจนที่สุดคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากครอบครัวละ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้กว่า 8 หมื่นบาทต่อเดือนในปัจจุบัน วันนี้ชาวชุมชนหนองหว้ามีจำนวน 70 ครอบครัว โดยมี 40 ครัวเรือนที่เลี้ยงหมู จากเริ่มต้นที่มี 50 ครอบครัว แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นจากการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีอาชีพเสริมอย่างการทำฟาร์มสเตย์ที่มีอยู่กว่า 20 หลัง การปลูกผัก เพาะเห็ดฟาง ทำสวน ฯลฯ ทำให้บางครอบครัวมีรายได้สูงถึง 3-4 แสนบาทต่อเดือน ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สิน ทั้งที่ดิน บ้านพัก และโรงเรือนเลี้ยงหมู ก็เพิ่มขึ้นจากเริ่มต้นโครงการมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนบาท เพิ่มเป็นประมาณ 6 ล้านบาทในปัจจุบัน ที่สำคัญคือความสำเร็จในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการรณรงค์เรื่องความสะอาด การปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
"เราเดินทางมาจากความแร้นแค้นยากจน มาเป็นชุมชนตัวอย่างได้ในวันนี้ ก็เพราะความอุตสาหะพยายามและความซื่อสัตย์ของทุกคน ที่สำคัญเรามีซีพีและซีพีเอฟเป็นผู้สนับสนุนให้ชีวิตใหม่กับพวกเรา ผมรู้สึกภูมิใจว่าเรามีอาชีพเลี้ยงหมูที่ทำให้มีรายได้ ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่อาชีพอื่นที่ถนัด สามารถส่งเสียลูกหลานให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงๆเท่าที่พวกเขาต้องการ และวันนี้หลายครอบครัวรุ่นลูกๆ ก็มาสานต่ออาชีพเกษตรกรทำให้พวกเขามีอาชีพมั่นคงเช่นเดียวกับรุ่นพ่อแม่ และกลับมาช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านของเราให้ยืนหยัดอยู่ต่อไป" ภักดี บอกอย่างภูมิใจ
ทั้งหมดนี้คือ 40 ปีของความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ชุมชนต้นแบบที่เป็นบทพิสูจน์ของเกษตรกรผู้มั่งคั่งที่สร้างความสุขในชีวิตได้จากอาชีพเลี้ยงหมู ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสืบทอดอาชีพสู่ลูกหลานอย่างยั่งยืน