สารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐ...หายนะหมูไทย

จันทร์ ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๒๘
โดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ : [email protected]

ภารกิจนำพาหมูป่า 13 ชีวิตกลับบ้านที่ประสบความสำเร็จและเด็กๆทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตดังเช่นที่เคยเป็นมากว่าครึ่งเดือน นับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยและคนทั้งโลกต่างปิติยินดี หากแต่เมื่อหันกลับไปมองเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยกลับต้องพะว้าพะวังกับอนาคตของตนเอง ที่กำลังถูกพญาอินทรีย์สหรัฐอเมริกา จ้องที่จะตะครุบเหยื่ออันโอชะอย่างประเทศไทย ด้วยการขนเอาเนื้อหมูรวมถึงเศษชิ้นส่วนที่คนอเมริกันไม่ทาน ทั้งหัว ขา เครื่องใน มาดั๊มพ์ขายในไทย ซึ่งไม่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องเสี่ยงกับการต้องกินหมูสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูได้อย่างอิสระ

หากแต่เกษตรกรคนไทยทั้งคนเลี้ยงหมู 195,000 ราย และห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้งส่วนของรำข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ จนถึงเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย ต้องล่มสลายแน่เพราะไม่สามารถแข่งขันกับหมูสหรัฐได้

เรื่องนี้ ANAN นักวิจัยของ EfeedLink, Singapore วิเคราะห์กรณีความพยายามของสหรัฐในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าเนื่องจากไทยกับ สหรัฐ มีการเลี้ยงหมูที่แตกต่าง โดยเฉพาะการใช้สารปรับสภาพซากซึ่งเป็นสารเร่งนื้อแดง-แร็กโตพามีน (Ractopamine) ที่ใช้กันเป็นปกติในสหรัฐ แต่ในประเทศไทยเป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายทั้งห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ทำให้เป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องการ

กฎหมายห้ามของไทยประกอบด้วย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

ขณะที่สหรัฐพยายามแก้ปมสารเร่งเนื้อแดงของตัวเองในเวทีที่ประชุม CODEX ครั้งที่ 35 เมื่อ 2-7 กรกฎาคม 2555 โดยสามารถชนะมติ MRL ของ Ractopamine แบบไม่เป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก 69 ต่อ 67 โดยไทยวางตัวเป็นกลาง ทั้งๆที่มีกฎหมาย 2 ฉบับในประเทศที่ห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ดังกล่าวข้างต้น

ระหว่างการยื่นร่างมาตรฐานนี้กลุ่มสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส อียิปต์ รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนคัดค้านการรับรองร่างมาตรฐานนี้ โดยสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงที่จะยังคงกฎหมายของสหภาพยุโรปในปัจจุบันไว้ เนื่องจากประเด็น safety concerns นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศได้ขอบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองครั้งนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เคนยา อียิปต์ ตุรกี โครเอเชีย อิหร่าน รัสเซียและซิมบับเวย์

หลังจากนั้นสหรัฐอ้างมติ CODEX กดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อหมูมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยดำเนินการผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) ที่มีตัวแทนหน่วยงานราชการฝ่ายไทยและผู้แทนการค้าสหรัฐร่วมประชุมปีละ 2 ครั้ง และในการประชุมอื่นๆ อีกหลายครั้งในระดับทวิภาคี

ล่าสุด สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐ (NPPC) รุกหนักขึ้นผ่านผู้แทนทางการค้า (USTR) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ที่ให้กับภาคส่งออกของไทย หรือแม้แต่ 44 สมาชิกสภาคองเกรส ก็ยังร่วมลงนามและยื่นหนังสือถึง ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา ให้เปิดตลาดเนื้อหมูและยังไม่ลืมอ้างการขอให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิ GSP

นอกจากนี้ ANAN ยังวิเคราะห์จากปมประเด็นดังกล่าว จากการผูกโยงกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ และกฎขององค์การการค้าโลก WTO...สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ เป็นไปตามแนวทาง ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน ในการนี้ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่ากฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้ รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับในประเทศ จะนำมาใช้บังคับเลยไม่ได้ จะต้องนำกฎหมายนั้นมาแปลงให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อน อาทิ ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ

ดังนั้นประเทศไทยถือว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเท่าเทียมกัน และเป็นอิสระจากกันและกัน ดังนั้นจึงไม่อาจที่ จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในประเทศได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนหรือแปลง รูปกฎหมายนั้นให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะสามารถนำมาบังคับใช้ได้

ส่วนกฎขององค์การการค้าโลก WTO ที่สหรัฐอ้างถึงเชิงเปรียบเทียบแม้ไม่ได้กล่าวตรงๆ ดังที่ NPPC ของสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์

สำหรับประเด็นที่ NPPC กล่าวว่าประเทศไทยไม่เปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูให้สหรัฐ แต่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (เครื่องใน) จากประเทศอื่นๆ ... Thailand also does not import uncooked pork and pork offal from the United States, even though it imports these products from other international supplies. เท่ากับอ้างถึง "หลักการไม่เลือกปฏิบัติ" (Non-Discrimination Principles)ถึงแม้ไทย-สหรัฐ ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน แต่สหรัฐกำลังอ้างถึงการเป็นสมาชิก WTO เหมือนกับประเทศที่ไทยนำเข้าเครื่องในจากประเทศที่กล่าวถึง ปัจจุบันนำเข้า 5 ประเทศหลักคือ จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี นอกนั้นจะมี เกาหลีใต้ เบลเยี่ยม โปแลนด์ บราซิล หากแต่ประเทศที่กล่าวมานี้ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดแรงกดดันการค้าหมูจากสหรัฐและลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยให้น้อยที่สุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ น่าจะพิจารณาเสนอคณะกรรมการสมาคมฯ ให้เปิดตลาดเครื่องใน Non-Ractopamine ให้ผู้ส่งออกสหรัฐ โดยการกำหนดโควต้ารวมตามที่สมาคมฯ กำลังจะเสนอกรมปศุสัตว์ถัดจาก 3 เดือนนี้ (อาจจะเท่ากับ 15,000 ตันต่อปี-ไม่รวมหนัง) ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการที่ต้องนำเข้าเพิ่มเติม เพื่อตั้งเป็นโควตารวมกับประเทศอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก กรณี MRL ของ CODEX ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรมีการฟ้องร้องภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นนี้อยู่ ดังนั้นสหรัฐจึงต้องเคารพกระบวนการยุติธรรมไทยที่ยังไม่ยุติ นอกจากนี้การที่ไทยถือปฏิบัติระบบกฎหมายระหว่างประเทศแบบทวินิยมจึงต้องให้เรื่องนี้ชัดเจนก่อน เท่ากับว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจึงยังคงต้องห้ามสำหรับประเทศไทย

นี่คือสิ่งที่ผู้เลี้ยงหมูพอจะทำเพื่อประเทศชาติได้ในเวลานี้ แม้จะเสี่ยงต่อความล่มสลายของอุตสาหกรรมจากการเปิดประตูบ้านยอมรับให้เครื่องในหมูสหรัฐเข้ามาทำตลาดในไทยได้ก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อลดข้ออ้างเรื่อง GSP ที่สหรัฐพยายามนำมากดดันไทย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม