รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเปิดเผยว่า คณะผู้บริหารได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมรับนักศึกษาใหม่ในระบบทีแคส (TCAS) โดยพบว่าในภาพรวมจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7,965 คน เมื่อสิ้นสุดการรายงานตัวแล้ว มียอดนักศึกษาใหม่ 7,439 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 93.0 อย่างไรก็ตาม ยังไม่รวมวิทยาลัยพยาบาล 120 คน และโครงการความร่วมมือกับผู้ประกอบของวิทยาลัยโลจิตกส์และซัพพลายเชน อีกประมาณ 200 คน ซึ่งจะทำให้ในเชิงปริมาณ สวนสุนันทาแทบจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจากระบบทีแคส.นี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในเชิงคุณภาพ เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ในเชิงบวก สวนสุนันทาติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ ในขณะที่ในรอบการยืนยันสิทธิ์ อยู่ในลำดับ 3 รองจากธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ สาขาวิชากว่าร้อยละ 70 มีอัตราการแข่งขันอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของประเทศ โดยที่ 5 อันดับแรกที่มีอัตราการแข่งขันสูงสุดในทีแคสรอบ 3 เป็นของสวนสุนันทาถึง 2 อันดับ คือครุศาสตร์ภาษาไทย แข่งขันสูงเป็นอันดับ 1 อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 56 และในรอบที่ 4 อัตราแข่งขันเป็น 1 ต่อ 92 และครุศาสตร์ปฐมวัยอันดับ 5 อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 44 ในขณะที่ในเชิงลบ ก็พบว่ามีบางสาขาวิชาที่มียอดนักศึกษาไม่ถึง 10 คน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 สาขาวิชา
"ผมคิดว่า ระบบทีแคส เป็นระบบที่พิสูจน์ความแข็งแกร่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปตามกลไกของความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน สาขาที่มีคนเลือกน้อย ก็แสดงว่าตลาดแรงงานไม่ต้องการหรืออาจจะยังมีความต้องการของตลาด แต่นักเรียนเห็นว่าที่อื่นมีความแข็งแกร่งทางวิชาการมากกว่า ก็ไปเลือกที่แห่งนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ข้อสรุปในขณะนี้ของสวนสุนันทาก็คือยังจะสนับสนุนระบบการสอบแบบทีแคสต่อไป ยังไม่มีเหตุผลใดที่จะแยกตัวออกมา แต่ทั้งนี้ก็จะขอฟังเหตุผลของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกครั้งว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่าแนวคิดของอธิการบดีมีความชัดเจนว่า ความสำเร็จหรือล้มเหลวของแต่ละสาขาวิชาอยู่ที่คุณภาพของตัวหลักสูตร มิใช่อยู่ที่ระบบทีแคส เพราะปรากฏการณ์ที่สวนสุนันทาพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลักสูตรที่เปิดรับพร้อมกัน บางหลักสูตรคนเลือกถล่มทลาย อัตราการแข่งขันเกือบ 1 ต่อ 100 ในขณะที่บางสาขามีคนเรียนแค่ 7 คน หากระบบไม่ดี ก็ต้องมีคนเลือกน้อยเหมือนกัน ดังนั้น อย่าไปโทษระบบแต่ให้หันกลับมาพิจารณาคุณภาพของตัวเองและรีบปรับปรุงตัวเองโดยด่วน ก่อนที่จะล่มสลายไปกับความไร้ประสิทธิภาพ
"คณะผู้บริหารกำลังพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรที่มียอดนักศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 5-7 หลักสูตร หากวิเคราะห์แล้วไปไม่ไหวก็จะปิดหลักสูตรไปเลย ในระบบการสอบแบบทีแคส เป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าหลักสูตรใดยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและเป็นหลักสูตรที่โดนใจนักศึกษา หากเปรียบเทียบว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้ประกอบการ หลักสูตรก็คือตัวสินค้า หากขายไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แสดงว่าสินค้าของเราไม่มีคุณภาพหรือไม่ก็มีสินค้าของคนอื่นที่ดีกว่าเรา"
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการยังกล่าวด้วยว่า สวนสุนันทายังคงสนับสนุนและเข้าร่วมกับระบบทีแคสต่อไป แต่ก็จะมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะไปยังที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนี้ เช่น ระบบการยืนยันสิทธิ์ ระยะเวลาการดำเนินการที่ค่อนข้างล่าช้า และปัญหาการควบคุมการสอบในบางวิชาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นสาขาพยาบาลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถไปบังคับกลุ่มวิทยาลัยบรมราชชนนีให้มาเข้าร่วมได้ ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่รอระบบทีแคสที่การดำเนินการล่าช้ากว่าหลายเดือน ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเสียหายมาก