อาจารย์อุษา กล้าวิจารณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้นำนวัตกรรมทางการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาสร้างระบบการจัดการการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนเครือข่าย เพื่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยวางรูปแบบเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) การวิจัยในห้องเรียน (2) การเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) (3) การนำระบบ IOT for Start Up 4.0 มาใช้ในด้านการสอน และ (4) การออกแบบสื่อการเรียนการสอนด้วย Google Application โดยทั้ง 4 หัวข้อนี้จะได้ถูกสอดแทรกในหัวข้อการนำเทคโนโลยีและโปรแกรมใหม่ๆ ที่แนะนำให้ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้สอนนักเรียนในโรงเรียนได้ ส่วนกิจกรรมที่ทำร่วมกับนักเรียน จะเป็นการพัฒนาและปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงการแก้ปัญหา หรือทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสามารถจะนำไปต่อยอดให้ประกอบอาชีพได้ โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีจิตอาสาจากกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจากหลากหลายสาขาร่วมกันสอนการสร้างอาชีพต่าง ๆ เช่น จิตอาสาจากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลักสูตรดิจิตอลมีเดีย จิตอาสาจากคณะวิศวกรรมสาขาสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ iOT และอีกหลากหลายสาขาร่วมกันทำงานในโครงการพี่เลี้ยงเพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้นักเรียน เช่น อบรมให้นักเรียนสามารถออกแบบสติกเกอร์ไลน์ โดยใช้โปรแกรมโฟโต้ชอป การตัดต่อวิดีโอโดยใช้โปรแกรมอย่างง่าย และมีการจัดกิจรรมไอทีแคมป์ในทุกโรงเรียนที่เราเป็นพี่เลี้ยงเพื่อจะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน และในปีต่อ ๆ ไป มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงก็จะต้องวางแผนศึกษาและตามเก็บข้อมูลตามด้วย
อาจารย์อุษากล่าวว่า การทำกิจกรรม "โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง" ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 15โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนกระทุ่มแบน "วิเศษสมุทคุณ",โรงเรียนเทศบาลอ้อมน้อย, โรงเรียนภัทรญาณวิทย, โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา, โรงเรียนมัธยมวัดดอนตูม, โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน, โรงเรียนเทศบาล 1 วัดเทียนดัด, โรงเรียนวัดท้ายหาด (พลอยเจียเส็ง), โรงเรียนศรีสุวรรณคงคาราม, โรงเรียนเมธีชุณหะวัณวิทยาลัย, โรงเรียนวัดธรรมสถิติ์วราราม, โรงเรียนสกลวิสุทธิ, โรงเรียนวัดบางกะพ้อม, โรงเรียนวัดบางขันแตก (บำเพ็ญอยู่รังสฤษดิ์) และโรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม
ทั้งนี้โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์จะแตกต่างจากที่อื่น โดยเราจะมุ่งการทำงานในลักษณะประสานการทำงานร่วมกันกับโรงเรียน เพราะเรามั่นใจว่า องค์ความรู้ของการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาก็มีความสำคัญที่สามารถนำมาทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ ดังนั้น นอกจากการเป็นผู้ให้ความรู้และทักษะใหม่ๆ แก่โรงเรียนแล้ว ทางม.เอเชียอาคเนย์ ยังมุ่งศึกษาและนำประสบการณ์รวมถึงมุมมองการเรียนการสอนในระดับมัธยมมาแลกเปลี่ยนกับทีมคณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันที่มีคุณค่าอย่างยิ่งด้วย
ด้านอาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาและหัวหน้าสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ [IoT] มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นกำลังหลักของโครงการนี้ได้กล่าวเพิ่มว่า เด็กนักเรียนทุกโรงเรียนเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งเราสามารถเรียกเด็กยุคนี้ได้ว่า เป็นเด็กยุค 4.0 โดยนักเรียนมีความสามารถในการใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อมีการนำความรู้ใส่เข้าไป ก็สามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว โครงการนี้จึงเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้เด็กนักเรียนมีความรู้ด้านไอที ที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ถือเป็นทางเลือกของนักเรียนที่เรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัย และถือเป็นการเปิดทางเลือกให้นักเรียนได้มีทางเลือกเรียนในระดับชั้นอุดมศึกษาใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่ายที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและมีศักยภาพที่สามารถผลิตน้อง ๆ เหล่านี้ไปทำงานในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ