พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จ.ยะลา จ.ปัตตานีจ.นราธิวาส และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่า ภาคใต้มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จากศักยภาพที่มีสูงมากนี้นำมาสู่การวางแผนพัฒนาใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. การเกษตรและประมง 3. การบริหารจัดการน้ำ 4. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้ทุกมิติจะช่วยสร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่ได้อย่างมาก
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ให้สอดรับกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนาบุคลากรให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างมีระบบ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นสู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ รวมถึงร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชน แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์คือความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"นโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมทุกมิติในการพัฒนา ทั้งการพัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม สิ่งสำคัญคือ เสริมสร้างความมั่นคงและสามัคคีในพื้นที่ รวมถึงยกระดับความเชื่อมั่นให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความงามและความจริง ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่และถูกบิดเบือนมานาน การท่องเที่ยวไม่ใช่เพียงแค่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นโอกาสในกานสร้างความเข้าใจและมิตรภาพให้กับคนในประเทศได้รักและสามัคคีกันมากขึ้น" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวว่า การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนให้ดีขึ้นได้ต้องอาศัยการยกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยดำเนินงานส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนมาเป็นลำดับ เนื่องจากเราเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หลายชุมชนประสบความสำเร็จจนกลายเป็นชุมชนต้นแบบ โดยมี มรภ.สงขลา เป็นพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วนในการลงพื้นที่พัฒนาชุมชน ทว่า ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังหาจุดเด่นของตนเองไม่เจอ วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกับ อพท. ในการสนับสนุนงานวิจัยหรือบริการวิชาการร่วมกับ มรภ.สงขลา เชื่อว่าการทำ MOU ร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้การทำงานเพื่อชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และจากความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกันต่อไป
ขณะที่ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังของหน่วยงานที่มีภารกิจและเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นโจทย์ในการพัฒนา เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ยกระดับความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้