นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาสสองของปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทมีรายได้รวม 395.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 65 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 239.90 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 90.35 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 49.79 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 40.56 ล้านบาท หรือ เติบโต 123%
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทฯ มีรายได้ 737.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 475.73 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 171.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 104.48ล้านบาท
สำหรับสาเหตุหลักที่รายได้และกำไรของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/2561 เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องมาจาก สามารถรับรู้รายได้ ในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ครบทั้ง 6 แห่ง เต็มไตรมาส ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่บริษัทฯ COD อยู่ที่ 50 เมกะวัตต์
" เมื่อช่วงเดือน ก.พ.ปี 2561 บริษัทฯ ได้มีการ COD โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 6 ที่มีกำลังการผลิต 9.2 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม ทั้งสิ้น 60 เมกะวัตต์ จากปีที่ผ่านมาที่ COD อยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ และทำให้บริษัทฯสามารถรับรู้รายได้ จากโรงไฟฟ้าที่มีทั้งหมดเต็มไตรมาส" นายเชิดศักดิ์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อถึง แนวโน้มการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ว่า ยังมีทิศทางที่ดีมาก จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และแม้ช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังไม่มีการ COD เพิ่มเติม แต่ก็มั่นใจว่าผลงานตลอดทั้งปี 2561 มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่บริษัทฯมีการควบคุมประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าที่ดี สามารถลดต้นทุนกระบวนการผลิต หลังจากเริ่มทยอยใช้ "พืชพลังงานรากแก้ว" ที่มีค่าความร้อนสุทธิ 2,235.16 kcal/kg หรือ 9,356.37 kJ/kg มาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงหลัก สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิต และเป็นการจัดการต้นทุนให้ต่ำลงตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
ทั้งนี้ มั่นใจว่า บริษัทฯจะสามารถสร้างผลประกอบการให้เติบทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างทั้งสิ้น 49 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ มีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา คือโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเสนอขายขนาด 8 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวงในระบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามความพร้อมภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมาย มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2563
" บริษัทฯมีพันธกิจที่จะมุ่งเน้นเสริมสร้างการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan) ของประเทศไทยภายใต้เสาหลัก 3E คือ 1. Energy Security ด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า 2. Economic ด้านเศรษฐกิจ 3. Environmental Friendly ด้านสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ" นายเชิดศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ ESG100 (Environmental, Social and Governance) ปี 2561 โดยติดอันดับ ESG100 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2559 ในกลุ่มทรัพยากร จากสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งทำการประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และผลประกอบการ จากหลักการแนวทางตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR (Global Initiative for Sustainability Ratings)
และรับรางวัล Thailand Energy Award ด้านพลังงานทดแทน โดยโรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอ เพาเวอร์ และ โรงไฟฟ้า แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทฯ ได้รับรางวัลดังกล่าว ประจำปี 2018 จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการและหน่วยงานที่มีจุดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานไทยอย่างยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐ อีกทั้งโรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอ เพาเวอร์ ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดในระดับ Asean Energy Award อีกด้วย