นายโชติ ชูสุวรรณ กรรมการเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลเร่งผลักดัน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีการเดินสายพบปะนักลงทุนต่างชาติเพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามวันนี้มีเสียงสะท้อนความวิตกกังวลจากกลุ่มนักลงทุนของบริษัทข้ามชาติ เกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานด้านไฟฟ้าและไอน้ำ ว่าจะมีเพียงพอรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่หรือไม่
เนื่องเพราะปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในด้านการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ที่จะสิ้นสุดลงระหว่างปี พ.ศ. 2560-2568 แม้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจำหน่ายให้กับนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 แต่ล่าสุดผ่านมาแล้วสองปีกว่ายังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
"ความล่าช้านี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่ ซึ่งเป็น ลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 25 ราย ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาเป็นชุดแรก เพราะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC โดยต่างกังวลว่าหากโรงไฟฟ้า SPP ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนด จะกระทบต่อความเสถียรและเสี่ยงต่อการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งการเกิดไฟฟ้าตกดับในกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง จะสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นในระบบผลิต"
นายโชติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ SPP เองจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า 2 - 3 ปี เพราะด้วยกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิม ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้า ทั้งการวางแผนก่อสร้าง ลงนามสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทดสอบระบบการผลิต จึงสามารถ COD (Commercial Operation Date) หรือ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้จริง ทั้งผู้ประกอบการ SPP ยังได้ปรับตามเงื่อนไขของ กพช, โดยการปรับลดสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. จาก 90 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 30 เมกะวัตต์ต่อโรงไฟฟ้า และปรับลดราคาต่อหน่วย ดังนั้นภาครัฐควรมีความชัดเจนในรูปแบบของการต่ออายุโดยเร็ว ซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมที่จะสนองนโยบายเพื่อมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง