มองผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่

ศุกร์ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๐๙
วันนี้ผมขออนุญาตลงบทความ เรื่องยาวๆ ที่พยายามจะมองผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ผมขอเล่าเรื่อง "แผน" ต่างๆที่เกี่ยวกับ "พลังงาน" ให้เข้าใจ พอสังเขป คือ ไทยมีแผนหลักๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานอยู่ 5 แผน ได้แก่

1. แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan, EEP)

2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan, AEDP)

3. แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

4. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และ

5. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan, PDP) หรือ เรียกสั้นๆว่า PDP

นอกจากนั้น ก็ยังมี นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงวิทย์ แผนยุทธศาสตร์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งแผนเหล่านี้จะให้ความสำคัญตามชื่อหัวข้อของแผน และ มีความเชื่อมโยงกันระหว่างแผน เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งนอกจากจะลดการใช้หรือใช้อย่างคุ้มค่าแล้ว ก็จะช่วยลดวิกฤตในการทำแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ก็มีวัตถุประสงค์และเชื่อมโยงกับแผนอื่นๆ มากหรือน้อย ขึ้นกับว่าบูรณาการแผนต่างๆ ไว้อย่างไร

โดยแต่ละแผนก็จะมองไปที่ ระยะสั้น กลาง ยาว ที่จะทำให้แผนเป็นจริง มีผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่จะมีโอกาสเข้ามาร่วมกันหารือ แสดงออกโดยเสรี เปิดรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วม ซึ่งก็น่าจะมาจากทุกภาคส่วนหรือทุกมิติที่เกี่ยวข้อง หรือ เป็นตัวแทน (Representative หรือ Nominee) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีผู้แทนหรือหน่วยงานของกระทรวงเป็นผู้ทำหน้าที่จัด "เวทีกลาง" ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) และมีความโปร่งใส (Transparency) ในกระบวนการจัดทำแผน

พื้นฐานของแต่ละแผนก็จะตั้งใจทำเพื่อให้ ประชาชนมีพลังงานใช้ ไม่ขาดแคลน ในราคาที่ไม่แพง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ การสร้างโอกาสบนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม อันเป็นหลักสำคัญอันหนึ่งของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP นั้น ในคำว่า "ไม่ขาดแคลน หรือ Shortage" ก็น่าจะตรงไปที่กำลังผลิต (generating capacity) / เก็บสะสม (storage) / สำรอง (backup) / ส่งหรือค้าส่ง (transmission or whole sale) / จ่ายหรือค้าปลีก (distribution or retail sale) / ผู้ใช้ไฟฟ้า / ผู้ผลิตใช้เองและซื้อไฟฟ้าใช้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้มีไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ Stability of Supply หรือ ในภาษาที่นิยมใช้ ก็จะเป็น Energy Security ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า หรือ ในภาษาชาวบ้าน คือ ไฟฟ้าไม่ตกดับ ไฟฟ้าไม่ดับยาวเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน หรือ ดับซ้ำๆซากๆ หรือ ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง กระทบการทำมาหากิน การใช้ชีวิตในระบบ 2.0 3.0 และ 4.0 และ ความปลอดภัยของประชาชน ในทุกภาค ทั้ง ในปัจจุบัน และ ในอนาคต

พยายามกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง ลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อว่าหากเกิด "วิกฤตราคา" เชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง จะไม่ทำให้เกิดราคาที่ยอมรับไม่ได้ จนต้องมีมาตรการปิดทีวีหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม หรือ ปิดห้างสองทุ่ม+ปิดไฟป้ายโฆษณาสี่ทุ่ม+ปิดปั๊มน้ำมันเที่ยงคืน+อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งแผน PDP นี้ก็จะต้องเตรียมรับมือไว้หากเกิดวิกฤตในอนาคต

มีปริมาณกำลังการผลิต ที่พร้อมจ่าย "ทันที" ไม่ต้องรอให้ไฟฟ้าดับ หรือ ต้องรอให้พร้อมจ่าย หรือ รอไฟฟ้าดับไปซักพักหนึ่งก่อน ในสัดส่วนที่ยอมรับได้ หรือ ยอมให้ไฟฟ้าดับได้บ้าง หรือ ต้องสตาร์ทเครื่องค้างไว้เพื่อรอเวลาที่จะต้องผลิตและจ่ายทันที หรือ จะต้องมีแบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือ ที่เก็บสะสมพลังงานไว้เพื่อรอเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากลับออกมา หรือ มีสัญญาซื้อไฟฟ้าฉุกเฉิน หรือ มีปริมาณกำลังการผลิตที่สามารถรองรับวิกฤตในระยะยาวในอนาคตได้ สอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และ เงื่อนไขสภาวะวิกฤต เช่น ท่อแก๊สดับ หรือ ไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านหายไปทันที หรือ สายส่งไฟฟ้าไปภาคใต้ดับ หรือ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกันหายไปจากระบบอย่างรวดเร็ว เป็นต้น และ ปลายเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 28 กค.-1สค.61 มีการปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ แล้วหันไปใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลแทน ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้จึงต้องช่วยกันประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น

ในเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้านี้ ก็พอจะเทียบเคียงกับกำลังการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ที่ ณ ขณะนี้กำลังการผลิตของมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีมากเกินไป ในขณะที่จำนวนนักศึกษาลดลง ไม่เป็นไปตามแผนที่พยากรณ์ไว้ ทำให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรและอื่นๆของมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นภาระแก่นักศึกษา หากมหาวิทยาลัยของรัฐลดกำลังการผลิตหรือลดการรับสมัครนักศึกษาลงได้ ก็จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเอกชนน่าจะมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

บูรณาการแผน กับ การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านไอที เพื่อใช้ในงานสมาร์ทกริด ใน ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายการผลิต (Distributed Generation) เพื่อให้เกิดการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำ ในระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่คนทั่วไปนับล้านคน จะสามารถซื้อหาเทคโนโลยีมาร่วมช่วยกันให้เกิดกำลังการผลิตขนาดและคุณภาพที่เทียบกันได้กับ โรงไฟฟ้าฐานขนาดใหญ่ 1 โรงที่ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีที่นำมารวมกันเป็นนับล้านสมาร์ทไมโครกริดนี้จะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และ ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคมมีช่องทางที่จะขยายเข้ามาในกลุ่มพลังงานได้ เกิดการกระจายการลงทุน (Distributed Investment) ผ่านระบบสมาร์ทนับล้านชุด

บูรณาการแผน กับ การใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ เป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานและชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีมาตรฐาน ดีกว่า มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว และยังเชื่อว่าดีกว่าโรงไฟฟ้าเก่าที่มีอยู่ในโลกนี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการนำประเด็นเล็กๆมาขยายให้ดูน่ากลัว ชนิดที่เรียกว่า หลอนให้คนกลัวจนกลายเป็นธุรกิจ Scaring people is a business. หรือ จะเป็นความเชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อเรื่องของแผนพลังงานแล้ว ยังกระทบต่อหลักคิดในนโยบายสาธารณสุข ซึ่งถ้าหากแนวโน้มโลกกำลังเย็นลง การสาธารณสุขก็ต้องวางนโยบายอีกแบบหนึ่ง การป้องกันโรคจากอากาศเย็น รวมทั้งการอพยพภัยหนาว การเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศแถบศูนย์สูตร ก็จะตามมาเช่นกัน

ในส่วนของ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ก็น่าที่จะหมายรวมถึง ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนที่มีไฟฟ้าแต่เป็นไฟฟ้าที่ไม่มีคุณภาพติดๆดับๆเป็นประจำ ห่างไกลจากศูนย์กลางพื้นที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ / การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง / ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีทั้งรัฐและเอกชนร่วมกันเป็นเจ้าของ เอกชนไทย เอกชนต่างชาติ เอกชนต่างชาติประเทศเพื่อนบ้าน เอกชนรายเล็กมาก รายขนาดกลาง เอกชนรายใหญ่ เอกชนในตลาดหุ้น นักลงทุนที่ต้องมีผลประกอบการมีกำไร ผู้ผลิตและขายไฟฟ้าฉุกเฉิน / ผู้ผลิตผู้ขายอุปกรณ์ ผู้ให้บริการบำรุงรักษา / กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า บริษัท ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า / ยานพาหนะไฟฟ้า / องค์กรภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ ที่คอยส่องกระบวนการจัดทำแผน องค์กรอิสระ องค์กรที่เชื่อโลกร้อนไปแล้ว / ผู้จัดหาเชื้อเพลิง ผู้ขายเชื้อเพลิงและขายไฟฟ้าด้วย / บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา / หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับกิจการโดยตรงและโดยอ้อม ทั้ง กระทรวงพลังงานเอง กระทรวงเศรษฐกิจ สังคม งบประมาณ การเงิน การบัญชี แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม / คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มาจากการแต่งตั้งโดยตรงหรืออ้อม จาก คสช / ผู้ที่จะได้หรือได้มาแล้วซึ่ง งบพัฒนาชุมชนจากเงินกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ที่จะได้มากขึ้น หรือ ที่จะได้น้อยลง หรือ ที่คิดว่าจะได้แต่ยังไม่ได้ จากรูปแบบการใช้ไฟฟ้าหรือวิธีการสั่งการผลิตไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนไป (Merit Order) / ผู้ผลิตที่ต้องนำส่งเงินพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า กับ ผู้ผลิตที่ไม่ต้องนำส่งเงินพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า / ผู้ที่ต้องการการพัฒนา หรือ ผู้ที่กลัวการพัฒนา / รวมไปถึง ผู้ที่ชำระหนี้ค่าไฟฟ้าตรงเวลา ผู้เสียค่าผลักภาระผ่านค่าเอฟที ผู้เสียภาษีแว็ตค่าไฟฟ้า กับ หน่วยงานที่ค้างหนี้ค่าไฟฟ้าเป็นร้อยล้านพันล้านบาท เป็นต้น

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำแผน เท่าที่ผ่านมาแผน PDP ของประเทศในอดีต มี "แนวโน้ม" ที่ กฟผ.รัฐวิสาหกิจไฟฟ้า จะมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าน้อยลงมา และ พยายามส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุน หรือ ร่วมลงทุน (public and private ownership) ในกิจการไฟฟ้าทั้งจากทุนในและจากทุนนอกประเทศ ในรูปแบบของ IPP SPP VSPP หรือ Solar Roof เป็นต้น ตั้งแต่การลงทุนขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กมาก

แต่แผนฉบับใหม่นี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ในขณะที่ ผอ.สนพ.ก็ให้ความเชื่อมั่นว่า แผนพัฒนาฉบับใหม่นี้จะมีเน้นไปที่ "ศักยภาพที่สามารถผลิตไฟฟ้าให้มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายแก่ประชาชนมีราคาถูกที่สุด" ด้วย ซึ่งเรื่องต้นทุนต่ำ ก็คงมีอีกรายละเอียด เงื่อนไข อีกหลายเรื่อง เพราะแผน PDP ที่ผ่านมา ก็มักจะมีจุดที่สามารถนำมาซึ่งการปรับปรุง แก้ไข หรือ รื้อแผนเดิมเพื่อทำแผนใหม่ ทำให้อายุของแผนต้องสิ้นสุดลงก่อนเวลา

แผน PDP ที่ผ่านมา ก็ประสบผลสำเร็จบ้าง ไม่ประสบผลสำเร็จบ้าง เช่น แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมองกว้างๆก็ถือว่าขยายตัวได้มาก แต่ถ้ามองไปที่เป้าหมายก็อาจจะยังไปไม่ถึง ก็น่าจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยของประชาชน ฐานะทางการเงินของประชาชน หรือ กล่าวให้เข้าใจได้ ถึงแม้จะเขียนสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนสุดลิ่ม เพราะสามารถที่จะเกิดการลงทุนในระยะสั้นได้ เอาเข้าจริงๆ ก็ไปต่อได้ยาก เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ ก็จะต้องมีการปรับแผนกันใหม่ หรือ แผนที่เราไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ในประเทศ ก็ดีดไปไว้ปลายแผนระยะยาว เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น ส่วนแผนที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะกลางและช้ากว่าแผน ไปแล้ว เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ที่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ หรือ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นต้น ซึ่งก็จะทำให้ภาคใต้มีความเสี่ยงไฟฟ้าดับสูงขึ้น บ่อยขึ้น และ นานขึ้น หรือ แผนการขยายระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ต้องใช้เวลาส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็มี

ในส่วนของแผนระยะสั้นที่เน้นการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ผ่านเงินเพิ่ม (adder) หรือ อัตราค่าไฟฟ้า (Feed-in Tariff) ที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง จนกลายเป็นความสำเร็จในการลงทุนระยะสั้น แต่เป็นภาระค่าไฟฟ้าต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งก็ปรากฏแล้วว่า "2 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยรับภาระค่าเอฟที จากการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแล้ว 8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 25 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า"

ทีนี้ ในแผน ที่จะพัฒนาขึ้นใหม่ ยังพอจะมี "ที่ว่าง" เหลือให้สามารถอุดหนุน หรือ ส่งเสริม หรือ ช่วย พลังงานหมุนเวียนได้อีกในปริมาณเท่าไร ขณะเดียวกันก็จะต้องเพิ่มการลงทุนระบบเสริมสร้างเสถียรภาพช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าออกมาได้ เช่น ระบบสมาร์ทไมโครกริด ระบบแบ็ตเตอรี่เคมีไฟฟ้า ระบบสำรองไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเช่นเขื่อนสูบน้ำกลับ ที่พอเหมาะกับกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่จะสามารถหายไปในระยะเวลาที่สั้นๆหรือนานๆ หรือรวมกันกลับเข้ามาใหม่ได้อย่างไร

ท้ายนี้แผน PDP ฉบับใหม่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผน ซึ่งได้วางหลักการสำคัญอันหนึ่ง ว่าค่าไฟฟ้าตลอดแผน 20 ปี ต้องไม่เกินราคาปัจจุบัน สอดคล้องกับ การมีไฟฟ้าใช้ไม่ขาดแคลน ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งหากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียท่านใด สนใจติดตาม ก็สามารถสืบค้นเพื่อหาโอกาสเข้าร่วมการรับฟัง หรือ แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆได้ โดยคาดว่าจะสามารถส่งแผนให้ กพช. ที่มีนายก เป็นประธาน ในเดือน สค.-กย.นี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version