นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยการให้สิทธิแก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นี้ เป็นการดำเนินการในลำดับถัดมาต่อจากการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะใช้นำไปประกอบการเสนอขอความเห็นชอบในหลักการของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
บันทึกข้อตกลงเบื้องต้นฯ นี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบสิทธิจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับบริษัท การบินไทยฯ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเป็นโครงการสำคัญยิ่งของประเทศไทย
โดยหลังจากที่โครงการฯ ได้รับความเห็นชอบหลักการของโครงการฯ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และบริษัท การบินไทยฯ จะเข้าทำสัญญาระหว่างกันโดยเร็ว เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิ (เช่า) และผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ที่จะได้ทำความตกลงกันเพื่อสนับสนุนให้โครงการฯ เกิดขึ้นได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนี้จะเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความล้ำสมัย พร้อมรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงของอากาศยานรุ่นใหม่ทุกรุ่นทุกขนาดในอีก 20 ปีข้างหน้า และพร้อมให้บริการซ่อมบำรุงอย่างตรงต่อเวลาเป็นที่สุดด้วยต้นทุนและราคาที่เหมาะสม และเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความปลอดภัย (On time, On Cost, On Quality) ที่จะให้บริการตั้งแต่การซ่อมบำรุงระดับลานจอดไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับอากาศยานในหลากหลายประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีล่าสุดและการตรวจสอบขั้นสูง มาใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์เพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาอากาศยานล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมบำรุงอัจฉริยะ (Smart Hangar) ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในทุกภูมิภาคของโลกในอนาคต