สำหรับ 3 บริษัท จากการโครงการประกวดสุดยอดเอสเอ็มอีแห่งชาติ ได้แก่ บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ส่วนอีก 2 บริษัทจาก โครงการปั้นดาว ได้แก่ ร้านข้าวขวัญเมือง เจ้าของสินค้าข้าวเหนียวมูลมะม่วงมหาชนก/น้ำดอกไม้ และบริษัท ไทยคอนยัค จำกัด ผู้ผลิต หัวบุก
ทั้งนี้ 3 บริษัทแรก ถือว่า เป็นตัวอย่างบริษัทที่ สสว. ได้ส่งให้ถึงเวทีระดับโลกมาแล้ว สสว.ได้นำทั้ง 3 บริษัทเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน "Silicon Valley International Invention Festival" (SVIIF 2018) ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งงานดังกล่าว เป็นงานที่ วช. ได้เชิญ สสว. ส่งผู้ประกอบการเข้าร่วมงานประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม และแสดงนิทรรศการในเวทีระดับสากลที่ถือว่า เป็นเวทีงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่สำคัญงานหนึ่งในทวีปอเมริกา จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดย องค์กรส่งเสริมด้านการประดิษฐ์คิดค้นของสาธารณรัฐเกาหลี หรือ Korea Invention Promotion Association (KIPA) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติหรือ International Federation of Inventors' Associations (IFIA)
ภายในงานดังกล่าว มีผลงานเข้าร่วมนำเสนอกว่า 100 ผลงาน จากประเทศต่างๆ จำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐอิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐโครเอเชีย สาธารณรัฐแองโกลาโรมาเนีย สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน (ไต้หวัน) ประเทศแคนาดา และประเทศไทย
ซึ่งผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Award) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง "ผงชงดื่มรสกล้วย" จาก บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด และผลงานเรื่อง "นวัตกรรมผลิตภัณฑ์รักษาสิวด้วยสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดไทย" จาก บริษัท ควอลิตี้พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และรางวัลเหรียญเงิน (Silver Award) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง "กรรมวิธีการทอถุงมือโดยใช้เส้นใยเคฟล่าร์ ฟิลาเมนต์" จาก บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด
สำหรับอีก 2 บริษัท จากโครงการปั้นดาว ได้แก่ ร้านข้าวขวัญเมือง และ บริษัท ไทยคอนยัค จำกัด ผู้ผลิต หัวบุก ก็เป็นอีก 2 ตัวอย่าง ที่ สสว. ภูมิใจนำเสนอ เนื่องจากเป็น 2 กิจการนำร่อง ที่ สสว. จะใช้เป็นตัวอย่างการสร้างโอกาสให้วิสาหกิจตั้งแต่ระดับฐานราก วิสาหกิจรายย่อย ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ให้ได้รับการพัฒนาในทุกมิติเพื่อให้มีศักยภาพ มีขีดความสามารถ ในการแข่งขัน และมีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วจนถึงเติบโตแบบก้าวกระโดดตามวัตถุประสงค์ โครงการปั้นดาว