กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรีดึกเอกชนรายใหญ่ ตั้งศูนย์ฝึกระบบอัตโนมัติเป็นศูนย์ต้นแบบพร้อมยกระดับศักยภาพ SMEs ไทยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

อังคาร ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๓๙
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 รุกเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี เน้นกลยุทธ์การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ หวังเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เสริมศักยภาพ SMEs เล็งผลักดันให้กลายเป็นพื้นที่ "อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต" อุตสาหกรรมตั้งต้นก่อนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง ล่าสุด จับมือภาคเอกชนรายใหญ่ ติดตั้งชุดฝึกระบบอัตโนมัติ หวังให้เป็นศูนย์ต้นแบบแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยียุคดิจิตัลแก่อุตสาหกรรมไทยในภาคตะวันออก ซึ่งเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC 4.0 เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ โดยอาศัยแพลทฟอร์มที่ผลักดันให้บริษัทผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก (Global Player) รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (LEs) ที่มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้ว มามีส่วนร่วมในการทำให้ SMEs สามารถปรับตัวพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลและพัฒนาผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยศูนย์ ITC 4.0 เปรียบเสมือนกับข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ที่ไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากรด้านวิศวกรรมที่ยังต้องสั่งสมประสบการณ์ และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตให้สามารถปฏิรูปธุรกิจของตนเองผ่านกระบวนการ SMEs Transformation ตามแพลทฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสม มีการให้บริการในส่วนของ Co-Working Space ให้บริการเครื่องจักรกลางที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องลงทุนเอง โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ ITC 4.0 เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงงานวิจัย รวมถึงบุคลากรในประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการขยายไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัด โดยการปรับให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชุมชนแต่ละแห่ง โดยคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับ SMEs ทุกระดับให้มีการปรับตัวก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมทั้งมุ่งพัฒนา SMEs ให้เป็น SMEs 4.0 (Smart SMEs) อย่างต่อเนื่อง โดย กสอ. มีแผนในการเร่งดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ในส่วนภูมิภาคเพิ่มอีก 7 แห่ง โดยจะอยู่ในพื้นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคจังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.สุพรรณบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ชลบุรี เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในระดับภูมิภาคให้เข้มแข็ง เสริมความแกร่งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งธุรกิจยุคดิจิตัล โดยคาดว่าศูนย์ ITC 4.0 จะเปิดให้บริการครบทุกแห่งภายในปี 2561 นอกจากนี้ กสอ.ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม 14 กลุ่ม/280 กิจการ ครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง ข้าวอินทรีย์ ผ้าทอ ของฝากของที่ระลึก เป็นต้น ส่วนในด้านการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Super Cluster) ตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม/160 กิจการ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต ดิจิทัล และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการต่อยอดผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง พร้อมทั้งทำให้สินค้าและบริการของไทยขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้นอีกด้วย

ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้มีความพร้อมในการให้บริการของศูนย์ฯ รวมทั้งหน่วยงานและระบบปฏิบัติการสำหรับส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่แล้ว โดยจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก และจังหวัดใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว และจ.สมุทรปราการ ในการปรับตัวและสามารถฉกฉวยโอกาสอันมหาศาลที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับและพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยหลังจากนี้ จะเร่งการประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs สตาร์อัพ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนกลุ่มโอท็อป เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการได้เห็นความสำคัญของการปฏิวัติสินค้าและบริการด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อผลักดันไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางเอาไว้

โดยในพื้นที่การให้บริการของศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี พบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เป็นหัวใจสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก และสามารถผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก่อนต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสมุนไพร การพัฒนาต้นน้ำให้เป็นเกษตรกรรม เป็นเกษตรอินทรีย์ และเป็น Smart Farmer ได้ในอนาคต แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กำลังประสบกับปัญหาด้านการผลิตที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง วัตถุดิบเป็นไปตามกลไกราคาตลาดที่มีความผันผวนตามฤดูกาล มาตรฐานของวัตถุดิบไม่มีความคงที่ในเรื่องของขนาดและน้ำหนัก อีกทั้งปัจจัยสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมยังขาดการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจัยและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ ยังขาดเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการทดสอบ ทดลอง เพื่อการสร้างสรรค์สินค้าและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ขาดโอกาสในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จะเข้ามารองรับพร้อมแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการนำงานวิจัยมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไปสู่ความต้องการของตลาดในอนาคต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อป รวมถึงผู้สนใจทั่วไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็น Thailand 4.0

สำหรับรูปแบบการดำเนินการของศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 แบ่งเป็น 1.Creative Industry Area : CI Area คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงได้ เพื่อช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการทดสอบคุณสมบัติสรรพคุณ (Food science) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยเครื่อง 3D Printing, 3D Scanning การบริหารจัดการ การวิจัยเชิงพาณิชย์ พร้อมที่ปรึกษาให้บริการปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจ ทำการตลาด ด้วย Software และเทคโนโลยีที่จำเป็น 2. Agro- Processing Pilot Plant Area : APP Area คือพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้าต้นแบบในด้านของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้านผลไม้ภาคตะวันออก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เป็นการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีสถานที่ในการค้นคว้า ทดลอง หรือทดสอบ การทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมการให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนถึงการจัดหาผู้ผลิต การทดสอบตลาด เพื่อบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสินค้าและสามารถดำเนินธุรกิจได้เองในอนาคต รวมทั้งการให้บริการทางด้านการเงิน การจัดหาแหล่งทุนและเครื่องมือทางด้านการเงินต่างๆ และบ่มเพาะธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติ อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มอบชุดฝึกระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Automation Demo Kit) บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท เคแอนด์เอ็น อีเล็คทริคเวล แอนด์เซอร์วิส จำกัด ติดตั้งศูนย์เรียนรู้ Robot & Automation Learning Area : RAL Area พร้อมสนับสนุนหลักสูตรฝึกอบรมการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ แก่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 เพื่อใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี คุณจรูญศักดิ์ ชีวะธรรมานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรณาพา กรุ๊ป จำกัด ผู้นำและผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบ การผลิตและบริการบรรจุหีบห่อสำหรับสินค้าประเภทต่างๆ เช่น พาเลทไม้ ลังไม้ และวงล้อไม้ มายาวนานมากกว่า 30 ปี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ "บูรณาพา" เกิดจากการทำธุรกิจโรงงานผลิตขารองตู้เย็นแบบไม้อยู่ในตลาดหนองมนมาก่อน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ก่อนจะขยายธุรกิจมาสู่การเป็นผู้ผลิตและขายพาเลทไม้ และมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้นำในด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ไม้ เช่นพาเลทไม้ ลังไม้ วงล้อไม้ของประเทศไทย และมีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ของพาเลทพลาสติกทั่วโลก จนปัจจุบัน บริษัท บูรณาพา กรุ๊ป กลายเป็นบริษัทชั้นนำด้าน Innovation Packaging ด้วยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเพื่อป้องกันการเกิดการกัดกร่อนในสินค้าด้วย Intercept Technology และใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยในการออกแบบและคำนวณการโหลด เพื่อให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและตรงทุกความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ปัจจุบัน บูรณาพา กรุ๊ป มีสาขาอยู่ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาบางแสน ขนาด 3,600 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ พื้นที่เก็บวัตถุดิบขั้นต้น และไลน์การผลิต สาขาสระบุรี เป็นสาขาที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับและให้บริการในเขตพื้นที่สระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง และสาขามาบตาพุด จ.ระยอง เป็นคลังสินค้าของบริษัท และสาขาย่อยอีก 2 สาขา ที่อ.พนัสนิคม และอ.บ่อวิน ในจ.ชลบุรี

ด้วยประสบการณ์และความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย กอปรกับปัจจุบันสินค้ามีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีปริมาณลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงมีแนวคิดในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ด้วยการย้ายไลน์การผลิตไปอยู่ที่สาขาหนองปรือ อ.พนัสนิคม และนำระบบ Automation เข้ามาติดตั้งภายในโรงงาน ส่วนของงานประกอบ ที่สาขาบางแสนทดแทน เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ลดความผิดพลาดและเพิ่มความปลอดภัยในขั้นตอนการผลิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ ทางบูรณาพา กรุ๊ป ได้เข้าไปขอความปรึกษา และแนวทางการปรับเปลี่ยนมาใช้กระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ จากทางศูนย์ ITC ภาคที่ 9 นอกจากนี้ การที่มีนโยบายให้เกิดการรวมกลุ่ม (Cluster) ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจและผู้ประกอบการมีการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ จนนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ศูนย์ ITC มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จ.ชลบุรี ซึ่งให้บริการครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว และจ,สมุทรปราการ โดยสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ติดต่อเข้ารับคำปรึกษา ตลอดจนเข้ารับบริการความช่วยเหลือต่างๆ ตามพันธกิจของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ได้ทางเว็บไซต์ https://ipc9.dip.go.th/th หรือ Facebook: https://www.facebook.com/dip.ipc9/ หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 เลขที่ 67 หมู่ 1 ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โทร. 038-273-701 หรือ e-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version