นางสาวณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) ผู้นำในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งฝังกลบ เผาทำลาย นำกลับมาใช้ใหม่และเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทน ปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนด้านการจัดการของเสียให้แก่โรงงานและผู้ประกอบการโดยล่าสุดเตรียมร่วมให้ข้อมูลด้าน "แนวทางการจัดการของเสียด้วยนวัตกรรมแบบยั่งยืน" ในงานสัมมนาหัวข้อ "กฎหมายและแนวทางการจัดการของเสียด้วยนวัตกรรมแบบยั่งยืน" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนาดังกล่าว จะมีการให้ข้อมูลความรู้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ในการขออนุญาตเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 โดยผู้เชี่ยวชาญจากกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะบรรยายกฎหมาย วิธีการยื่นคำขออนุญาตต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด รวมทั้งมีการบรรยายถึงแนวทางการจัดการของเสียด้วยนวัตกรรมแบบยั่งยืน โดยวิทยากรจาก บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
พร้อมกันนี้ มีประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาว่าหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง นั่นคือ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ในฐานะเป็นผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยเฉพาะโรงงานที่จะครบกำหนดต่ออายุในปีนี้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนว่า จะไม่พิจารณาต่ออายุใบอนุญาตฯ ให้โรงงานที่ไม่ดำเนินการขออนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยเด็ดขาด อีกทั้ง ในอดีตที่ผ่านมามีผู้ประกอบการโรงงานหลายรายถูกดำเนินคดีปรับ ดังนั้น สำนักงานฯ จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องส่งบุคลากรเข้าร่วมงานดังกล่าว
อนึ่ง บริษัทฯ มีนโยบายจะสนับสนุนภาครัฐจัดสัมมนาให้ความรู้อย่างต่อเนื่องในลำดับต่อไป
ข้อมูลบริษัท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการ สิ่งปฏิกูลฯอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยธุรกิจหลักที่ให้บริการมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ คือ การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (รวมทั้งการฝังกลบอย่างปลอดภัยเมื่อทำการปรับเสถียร หรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว) โดยมีศูนย์บริหารและจัดการฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ บริษัทยังสามารถให้บริการบำบัด (Treatment) สำหรับการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมีกายภาพด้วย
ในปี 2550 บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ด้วยการทำเชื้อเพลิงผสม (Fuel Blending) นอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบำบัด (Treatment) ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะสำหรับของเสียอันตราย ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นอกจากนั้น บริษัทมีรายได้ค่าบริการจากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยวิธีการอื่นซึ่งบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ การส่งไปเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเผาทำลายร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ (Recycle) เป็นต้น
ปี 2557 ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานทดแทน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด โดยโครงการแรกของบริษัท ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเวลา 8 ปี