นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเอกชน หรือทีเอ็ม อคาเดมี ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่าจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขัน สร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็งระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน สนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งพบว่า ปัจจุบันบุคลากรที่มีประสบการณ์ดำเนินงานวิจัยพัฒนากับภาคเอกชนมีจำนวนไม่เพียงพอ สวทน. จึงร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ดำเนินโครงการทีเอ็ม อคาเดมี เพื่อการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ที่พร้อมดำเนินงานวิจัยพัฒนาร่วมกับสถานประกอบการ พัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมต่อไป
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการทีเอ็ม อคาเดมี เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ออกไปปฏิบัติงานในโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ ร่วมกับ 10 นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์วิจัยพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การอบรมองค์ความรู้พื้นฐานและประสบการณ์การทำงาน ร่วมกับภาคเอกชนใน 3 กลุ่มสาขา คือ กลุ่มวัสดุศาสตร์ กลุ่มสิ่งแวดล้อม และกลุ่มชีววิทยาและสมุนไพร ระยะที่ 2 การปฏิบัติงานจริงของผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ในสถานประกอบการ รวมถึงการถอดบทเรียน จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาแพลตฟอร์มการยกระดับศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน
ด้าน ดร.ไฉน น้อยแสง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อาจารย์วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ (Mentor) ด้านพฤกษเคมี เภสัชเคมีและเครื่องสำอาง กล่าวว่า ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากที่เคยทำงานกับภาคเอกชนให้กับอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถปฏิบัติฝึกประสบการณ์ สร้างงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ส่วน นายประชุม คำพุฒ อาจารย์ มทร.ธัญบุรี ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้าง รีไซเคิลวัสดุ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า การทำงานในสถานประกอบจะสร้างประสบการณ์ให้นักวิจัยมากยิ่งขึ้น ได้เห็นโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ จากภาคอุตสาหกรรม เป็นการอัพเดตความรู้และสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม และถือเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ (New Talents) ที่เข้าร่วมโครงการ ดร.จรุงวิทย์ บุญโนรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เผยว่าทีเอ็ม อคาเดมี เป็นโครงการที่น่าสนใจ เปิดโอกาสในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาตนเอง และนำประสบการณ์เหล่านั้นไปสอนนักศึกษาได้อีกด้วย
การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา ให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม และจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและบริการของประเทศต่อไป ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.tmacademy2018.com