นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในการจัดงานครั้งนี้ เรามุ่งหวังที่จะให้ บ้านศาลาแดงเหนือ กลายเป็น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่สำคัญของจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืน เป็นชุมชนที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน อาทิ การเป็นชุมชนต้นแบบ เรื่องของชุมชนคุณธรรม การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่มีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ชาวบ้านเองได้เก็บรวบรวมไว้ การใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ บ้านเรือน อาหารการกิน รวมถึงการประกอบอาชีพ ทุกจุดล้วนแต่มีเรื่องราว มีความน่าสนใจ ก็อยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยให้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ด้วยตัวเอง
ด้านนางสาวศกลวรรณ วงษ์แจ้ง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในส่วนของท้องถิ่นเองก็อยากเห็นการพัฒนาในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อำเภอสามโคก มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งการกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นโครงการที่มีแนวคิดเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชนพื้นถิ่นในจังหวัดปทุมธานี และเป็นการรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นให้คงอยู่ จะเห็นได้ว่าขณะนี้นักท่องเที่ยวมีความตื่นตัว สนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอสามโคกกันอย่างคึกคัก โดยการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และเป็นการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย การเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และการพักผ่อนหย่อนใจ
นายอนุวัตร ใจชอบ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านศาลาแดงเหนือ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ได้สนับสนุนให้มีการนำมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านศาลาแดงเหนือ มาสร้างคุณค่าทางสังคม และส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิต สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในแต่ละสัปดาห์ สิ่งแรกที่เห็นชัดเจน คือ การเข้ามาของนักท่องเที่ยว การที่เราได้ใช้บทบาทของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยว การได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบว่า หมู่บ้านของเรามีการสืบทอดกิจกรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การมีส่วนส่วนรวมของคนในชุมชนที่คงความเป็นวิถีมอญ ให้คนภายนอกได้เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกเหนือจากการสืบสานประเพณีและจะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแล้วนั้น การกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยว มาใช้ชีวิตมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิถีชีวิตแบบชุมชน ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศสนุกสนาน หรือ การมาทานอาหารมอญ มาหัดทำพวงมะโหตร หรือของใช้แบบมอญ อันเป็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ในอนาคต อยากให้มีการปรับตัวไปเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้คนภายนอก และนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ มาดูงาน ซึ่งจะตอบรับในเรื่องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
บ้านศาลาแดงเหนือ เราได้สืบสานเรื่องราวประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เรามีวิถีชีวิตแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน การดูแลรักษาสภาพอาคารหลังเก่า ในเขตพื้นที่วัดศาลาแดงเหนือ หมู่บ้านศาลาแดงเหนือ มีเรื่องราวทางวัฒนธรรม ที่เหมาะสมแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ จะมีความเกี่ยวพันกันทั้งคนไทย และ คนมอญ ที่มีความใกล้ชิดผูกพันกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยก แต่เราโชคดี ที่มีการสืบสานสิ่งที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เรายังมีการพูดภาษามอญ ที่นับวันเด็กรุ่นใหม่ก็จะละเลยไป การที่ผู้คนในหมู่บ้านยังออกมาสวดมนต์ทุกวัน เพราะเรามีกิจวัตรในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ด้วยการถือศีล และ ยังสวดมนต์เป็นภาษามอญ ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นจุดเด่นที่เรายังคงรักษาความเป็นอัตลักษณ์มอญได้อย่างชัดเจน