ทำให้เรื่องดังกล่าวซึ่งยืดเยื้อมาสองปีกว่าแล้ว ต้องเลื่อนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนข้ามชาติที่เป็นลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 25 ราย ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาเป็นชุดแรกเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ภาครัฐเร่งผลักดันและเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนแทบทั้งสิ้น
และวันนี้กลุ่มนักลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เริ่มมีเสียงสะท้อนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานด้านไฟฟ้าและไอน้ำ ว่าจะมีเพียงพอรองรับการลงทุนพื้นที่ EEC ในอนาคตหรือไม่
นายโชติ ชูสุวรรณ กรรมการเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ระบุว่า ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ที่ผ่านมา นักลงทุนไทยแตะต่างชาติ อาทิ มิชลิน มิตซูบิชิมอเตอร์ส ซูมิโตโมรับเบอร์ รวมถึงสถานทูตญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส ทวงถามความชัดเจนในเรื่องนี้มาตลอด เพราะต่างกังวลว่าโรงไฟฟ้า SPP จะไม่สามารถปรับปรุงระบบผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนด เพราะต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้า 2-3 ปี
กรณีนี้จะกระทบกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเขตพื้นที ECC ที่ต้องการความเสถียรของกระแสไฟฟ้าสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนไฟฟ้า เผชิญสภาวะไฟฟ้าตกดับในกระบวนการผลิต ที่แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่น
ดังที่ผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่ สะท้อนมุมมองผ่านสมาคมฯ ว่า "สิ่งที่ต้องการเห็นคือ ระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร โดยเฉพาะด้านไฟฟ้าและไอน้ำ ที่บริษัทซื้อโดยตรงจาก SPP เพื่อลดความเสี่ยง เพราะหากมีไฟฟ้าดับเพียง 0.06 วินาทีขึ้นไป จะสร้างความเสียหายต่อยาง 1,000 เส้น ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตทำให้ต้องหันมาใช้ SPP แทน
นายโชติ ชูสุวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนดูความจำเป็นแรกเริ่มเดิมทีของการก่อตั้งโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จะพลว่า SPP เป็นโมเดลที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกตั้งต้น ในการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งช่วยส่งประโยชน์ในการลดเงินลงทุนด้านระบบสายส่งให้กับภาครัฐ และ กฟผ.ด้วยข้อดีคือ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ใช้ได้กระแสไฟฟ้าความเสถียรสูง ไม่ตกไม่ดับ ช่วยเพิ่มความมั่นใจในระบบผลิต และยังสามารถผลิตไอน้ำพลังความร้อนป้อนภาคอุตสากรรมได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ผู้ประกอบการ SPP ได้ยอมตามเงื่อนไขของ กพช. ทั้งการปรับลดสัดส่วนการขาย ไฟฟ้าให้ กฟผ.จาก 90 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 30 เมกะวัตต์ต่อโรงไฟฟ้า เพื่อให้ทางเทคนิคสามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ ขณะที่ราคาก็ลดลงมามากแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในทางปฎิบัติใดเกิดขึ้น
" SPP เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนใช้เป็นตัวชี้วัดและกำหนดอนาคตว่าจะร่วมลงทุนในประเทศไทยหรือไม่โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะหากยืดยาวออกไปท้ายสุดอาจกลายเป็นปัจจัยผลักให้นักลงทุนตัดสินใจเปลี่ยนหรือ โยกย้ายการลงทุนออกจากประเทศไทย กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ภาครัฐควรเร่งสร้างความชัดเจนในรูปแบบของการต่ออายุโดยเร็ว ซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมที่จะสนองนโยบาย เพื่อมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง"
แม้ปัจจุบันไทยจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองในระบบที่เพียงพอ แต่ส่วนหนึ่งมาจากการพึ่งพาเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว ดังนั้นในสภาวะการณ์ที่ภัยธรรมชาติกลายเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมและเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จนอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในระบบฉุกเฉินแบบไม่คาดคิด การมี SPP น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของภาคประชาชนกรณีเกิดเหตุวิกฤตด้วย
การตัดสินใจของกระทรวงพลังงานต่อจากนี้ ว่าจะหาข้อสรุปให้เป็นไปในทิศทางใดนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ และการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย EEC ตามที่รัฐบาลกำหนดเป็นอย่างมาก