ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินสถานการณ์ค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าลง 40.8% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ว่ามีโอกาสน้อยที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ เหมือนวิกฤตการเงินปี 1997 เนื่องจากเศรษฐกิจของตุรกีไม่ได้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆมากนัก และหากลุกลามก็จะกระทบประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยเฉพาะธนาคารของสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่เป็นเจ้าหนี้หลักของธนาคารตุรกีโดยตรง แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เคยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนแล้ว
สำหรับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทในขณะนี้ มองว่าน่าจะเป็นความกังวลใจของนักลงทุนในระยะสั้น และคาดว่ากระทบโดยตรงต่อไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากตุรกีมาไทยปีละประมาณแค่ 75,000 คน และไทยส่งออกไปตุรกีเพียง 0.5% ของยอดการส่งออกทั้งหมด จึงไม่น่าจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีตุรกีเป็นตลาดสำคัญ เช่น เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เป็นต้น
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่น่ากังวลมากกว่าปัญหาค่าเงินของตุรกีในขณะนี้ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า ซึ่งหลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซียด้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์แล้ว ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การขาดดุลการค้า ซึ่งหากอินโดนีเซียนำมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า 7.5% ในกลุ่มสินค้าผู้บริโภค (Consumer Goods) 500 รายการ มาใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อการค้าในอาเซียนที่เป็นเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างแน่นอน รวมทั้งเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียน และอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้