โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์จากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าที่กดดันสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและกระตุ้นแรงซื้อสกุลเงินดอลลาร์ ล่าสุดดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐและตุรกีจากกรณีที่มีการคุมขังบาทหลวงชาวสหรัฐในตุรกี ซึ่งกดดันให้เงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าอยู่แล้วจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ยิ่งดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่สกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย (safe-haven currency) ไม่เพียงเท่านั้นการดิ่งลงของค่าเงินลีราได้สร้างความวิตกว่าในวงกว้างว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง(Contagion Risk) ไปยังหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงธนาคารในยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี จนสร้างแรงกดดันให้กับยูโรและราคาทองคำเพิ่มเติม
ประกอบกับกระแสเงินทุนไหลออกจากทองคำต่อเนื่อง สะท้อนจากกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ลดการถือครองทองคำลงจนล่าสุดถือครองทองคำลดลงสู่ระดับ 776.65 ตันซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2016 ขณะที่กองทุนเฮดจ์และผู้จัดการกองทุนลดสถานะซื้อ(Long)และเพิ่มสถานะขาย(Short)ในตลาด จนทำให้สถานะสุทธิในสัญญาฟิวเจอร์สทอง COMEX กลายเป็นสถานะขายสุทธิในสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 7 ส.ค. เป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน จะเห็นได้ว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ สถานะเก็งกำไรในทิศทางลงในตลาด COMEX กระแสเงินทุนที่ไหลออกจาก ETF ทองคำ การสูญเสียคุณสมบัติในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย รวมไปถึงปริมาณความต้องการทองคำที่ซบเซาตามฤดูกาลทองคำได้สร้างมุมมองเชิงลบจนเป็นที่มาให้ราคาทองคำในตลาดโลกในขณะนี้ (วันที่ 16 ส.ค. 2018 เวลา 15.40 น.)เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าปรับตัวลงเกือบ 190 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากระดับสูงสุดในปีนี้บริเวณ 1,366 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว -14% ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาทองคำร่วงลงแล้วกว่า 120 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือคิดเป็นเกือบ -10% ขณะที่ราคาทองคำในประเทศในขณะนี้ (วันที่ 16 ส.ค. 2018 เวลา 15.40 น.) ขายออกอยู่ที่ 18,650 บาทต่อบาททองคำ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาทองคำในประเทศปรับตัวลง 1,600 บาทต่อบาททองคำหรือ คิดเป็น -8%
สำหรับมุมมองทางเทคนิค ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง ขณะที่แรงขายยังคงกดดันราคาทองคำให้ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง YLG ประเมินแนวต้านแรกไว้บริเวณ 1,181 ดอลลาร์ต่อออนซ์และ 1,193 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นแนวต้านถัดไป หรือ คิดเป็น 18,600 และ 18,800 บาทต่อบาททองคำตามลำดับ โดยการปรับตัวลงในระยะนี้ถือเป็นโอกาสในการทะยอยเข้าซื้อสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือ และผู้ที่ต้องการสะสมเครื่องประดับทองคำและทองคำแท่งไว้ใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ ด้านนักลงทุนที่มีทองคำอยู่ในมือและรับความเสี่ยงได้น้อยอาจรอจังหวะขายหากราคาทองคำดีดตัวขึ้นไม่ผ่านโซนแนวต้านเพื่อรอเข้าซื้อคืนในระดับราคาที่ต่ำกว่า และแนะนำว่าจุดที่น่าสนใจในการเข้าซื้อเป็นบริเวณแนวรับ 1,154-1,145 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือคิดเป็น 18,150 และ 18,000 บาทต่อบาททองคำ รวมไปถึงติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างใกล้ชิดและจำเป็นตั้งจุดตัดขาดทุนและจุดทำกำไรซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้เป็นอย่างดี