ต่อภาคส่งออก และผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจตุรกีต่อตลาดการเงินโลกอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสามของไทยต่ำกว่า 4%
16.00 น. 19 ส.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า ผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ผลกระทบของสงครามการค้าจีนสหรัฐต่อภาคส่งออก และผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจตุรกีต่อตลาดการเงินโลกอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสามของไทยต่ำกว่า 4% แม้นน้ำท่วมในปีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศและเขตนิคมอุตสาหกรรมเช่นปี พ.ศ. 2554 แต่ผลกระทบของน้ำท่วมกระจายตัวในวงกว้างทั้งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและบางส่วนของภาคใต้ กระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตการเกษตรและการท่องเที่ยวทำให้กำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบภัยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น่าจะเกิน 0.3% ของจีดีพีแต่ได้สร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในต่างจังหวัดอย่างมาก การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมายังมีลักษณะเติบโตแบบกระจุกตัวโดยพึ่งพาผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก การคาดการณ์ว่าช่วงที่เหลือของปีการกระจุกตัวจะค่อยๆคลี่คลายลงอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ชนบทอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขาดรายได้
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง ประเทศต่างๆอาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯมาไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงกว่า 27% และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ส่วนปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตุรกีนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้นและน่าจะยืดเยื้อ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นไทยไปอีกระยะหนึ่งและนำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากเศรษฐกิจ Emerging Markets มากขึ้นได้ และมีความเป็นไปได้สูงที่ตุรกีต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก หนี้สินต่างประเทศในระดับสูง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ
ธนาคารสเปนเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติของตุรกีที่ใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 35% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ณ ไตรมาส 1 ปี 2018 หรือราวๆ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีค่าเท่ากับ 6% ของ GDP ปี 2017 ของสเปน ส่งผลให้หุ้นธนาคารสเปนปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา เพิ่มความเสี่ยงของปัญหาวิกฤติหนี้สินของสเปนรอบใหม่ที่อาจปะทุขึ้นมา มีหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets มีความเปราะบางและความเสี่ยงเช่นเดียวกับตุรกี ซึ่งนักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เช่น อาร์เจนตินา เวเนซูเอลา บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น และ ประเทศเหล่านี้อาจเป็นเป้าหมายของการเก็งกำไรค่าเงินและการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของนักลงทุนต่างชาติ และ อาจทำให้ธนาคารกลางประเทศเหล่านั้นปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุนระยะสั้น
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ผลกระทบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตุรกี มีผลกระทบต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยตรงกับประเทศตุรกีไม่มากนัก ประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่าประเทศอื่น คือ เวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีสัดส่วนส่งออกไปตุรกีคิดเป็น 1.2% ของจีดีพี ส่วนผลกระทบนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐฯต่อไทยจากมาตรการ Safeguard Tariff นั้นส่งผลต่อสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯแต่การส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆยังขยายตัวดีและสามารถชดเชยตลาดนำเข้าในสหรัฐฯได้ นอกจากนี้ไทยยังได้รับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ในปี พ.ศ. 2018-2020 มูลค่าการส่งออกของไทย ณ. ขณะนี้จึงยังเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้าจีนสหรัฐฯจะส่งผลต่อภาคส่งออกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ในระยะต่อไป
ส่วนเรื่องผลกระทบน้ำท่วมนั้น แม้นประเทศไทยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติซึ่งสามารถสั่งการนโยบายและการบริหารจัดการน้ำอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้วยกลไกดังกล่าวน่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของไทยยังคงไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในเชิงรุก และยังคงทำงานแบบตั้งรับและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายที่น่าจะป้องกันได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำหลังจากแผนการลงทุนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกไป