นางศรีสุรางค์ มาศศิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า โครงการ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ซึ่งเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สอง ในปี 2561 สถาบันลูกโลกสีเขียว จึงจัดนิทรรศการเพื่อแสดงถึงเส้นทางการเติบโตของ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ควบคู่กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและการทำงานอนุรักษ์ของภาคประชาชน โดยสะท้อนผ่าน "ต้นแบบ" ที่ได้รับรางวัลฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 700 ผลงาน
"การประกวดฯ ครั้งที่ 18 นี้ ประกอบด้วย 7 ประเภทผลงาน คือ ประเภทชุมชน บุคคล กลุ่มเยาวชน งานเขียน ความเรียงเยาวชน สื่อมวลชน และรางวัล "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" โดยมีผลงานจากการรับสมัครและสรรหาทั้งสิ้น 299 ผลงาน คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ลงพื้นที่พิจารณาผลงานตลอดปี 2559 จนถึงต้นปี 2560 และคณะกรรมการตัดสิน พิจารณาให้มีผลงานที่ได้รับรางวัลฯ รวมทั้งสิ้น 38 ผลงาน" นางศรีสุรางค์ กล่าว
ในปี 2561 นี้ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สอง มีเรื่องราวและ "เส้นเวลา" การทำงานที่ล้วนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วย "พลัง" ของเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั้งสิ้น นอกจากการยกย่อง เชิดชู และให้กำลังใจกับผลอนุรักษ์ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้จากต้นแบบต่างๆ สถาบันลูกโลกสีเขียวยังหนุนเสริมการสร้างเครือข่ายลูกโลกสีเขียว ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งเวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียว ในส่วนกลางและภูมิภาคะกิจกรรม "เพื่อนลูกโลกสีเขียว" ที่สัญจรเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการจัดการป่า งานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการสองทศวรรษรางวัลลูกโลกสีเขียว นิทรรศการผลงานผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 18 ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "พลังเปลี่ยนโลก" โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลก สีเขียวและประธานกรรมการตัดสินรางวัลลูกโลกสีเขียว เวทีเสวนาห้องย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้นำชุมชนภาคต่างๆ และอุดหนุนสินค้าจากชุมชนรักป่าในเครือข่ายลูกโลกสีเขียว
ร่วมสาน "พลังเปลี่ยนโลก" ในงาน "สองทศวรรษรางวัลลูกโลกสีเขียว" ระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม ศกนี้ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. วิภาวดี กรุงเทพฯ