นางอุมาพรฯ กล่าวว่า ความร่วมมือกับเครือข่ายจัดงานครั้งนี้มุ่งเป้านำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าโอทอปให้ได้คุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และนำไปสู่การจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการอย่างตรงจุด รวมถึงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือในภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักและเป็นรากฐานของประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นการเกษตรยุคใหม่อีกด้วย
ซึ่งในวันนี้มีผู้ร่วมงานประกอบด้วย ผู้ประกอบการOTOP และเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น และร้อยเอ็ดประมาณ 1000 คน รวมทั้งได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการผลิตยกระดับคุณภาพของสินค้าOTOP และสร้างนวัตกรรมการเกษตรด้วย ถือเป็นการยืนยันความตั้งใจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเกษตรกร ให้สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มีความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ สามารถเป็นต้นแบบในการดำเนินการในการพัฒนาในจังหวัดอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย
นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรกรและเศรษฐกิจชุมชนซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและพันธกิจ ในการส่งเสริมผลักดันให้จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นแหล่งผลิตและพัฒนาการผลิต แปรรูป อาหารปลอดภัยและพืชเศรษฐกิจหลักแบบครบวงจร การที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เลือกพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่เป้าหมายพัฒนาให้การสนับสนุนองค์ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาศักยภาพของ ผู้ประกอบการ โอทอปและเกษตรกรให้ได้รับความรู้ เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการ OTOP และเกษตรกรให้ดีขึ้น เป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน