นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ในไตรมาส 3 และ 4 มีสัญญาณที่ดี หลังจากรัฐบาล ประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 เติบโตสูงกว่า 4.5% โดยในส่วน บสย. ซึ่งมุ่งเน้นภารกิจ ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน พบว่า การขอใช้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ บสย.ของธนาคารและผู้ประกอบการ SMEs มีสัญญาณที่ดี โดยขณะนี้มี 7ธนาคารเข้าร่วมโครงการ และได้เริ่มส่งคำขอค้ำประกันสินเชื่อ รวมกว่า 250 ราย วงเงิน 700 ล้านบาท ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7)
"ขณะนี้ บสย.ได้รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ (ณ 22 ส.ค.) ให้กลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว จำนวน 35 ราย ซึ่งอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติ กลุ่ม SMEs ทั่วไป จำนวน 42 ราย อนุมัติแล้ว 17 ราย และกลุ่ม SMEs รายเล็ก จำนวน 153 ราย อนุมัติแล้ว 58 ราย ผ่าน 7 ธนาคารที่ร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ธนาคารทหารไทย 2.ธนาคารกสิกรไทย 3.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 5.ธนาคารทิสโก้ 6.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย 7.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย" นายวิเชษฐ กล่าว
ทั้งนี้ ยังพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่มาแรงและคึกคัก ในการขอวงเงินค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. คือกลุ่ม SMEs รายเล็ก ที่ขอกู้เงินจากธนาคาร วงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อราย ซึ่งได้ยื่นคำขอเข้ามาถึง 153 ราย เป็นสถิติสูงสุดหลังการเปิดใช้โครงการ
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3) วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ได้รับการตอบรับจากธนาคารขอเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 3 ธนาคาร ได้แก่ 1.ธนาคารทิสโก้ 2.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ 3.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่ต้องการวงเงินสินเชื่อไม่สูงมาก มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อภายใต้โครงการดังกล่าว สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายและแผนงานของ บสย.คือการขยายฐานผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2890 9999