วันนี้ (23 สิงหาคม พ.ศ.2561) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงาน "ปลูกข้าวดำนา ณ ป่าวังจันทร์" ณ แปลงวนเกษตร พื้นที่วิจัยปลูกป่าศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยได้รับเกียรติจาก นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมงาน
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า วานนี้ (22 สิงหาคม พ.ศ.2561) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงโยนกล้าพันธุ์ข้าวหอมนางพญาแม่ทองดำ เป็นปฐมฤกษ์ ในโอกาสเสด็จ พระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ทำให้ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ได้จัดงาน "ปลูกข้าวดำนา ณ ป่าวังจันทร์" ในวันนี้ขึ้น โดยมีกิจกรรมลงแขกปักดำ "กล้าข้าวหอมพันธุ์นางพญาแม่ทองดำและกล้าข้าวเหนียวพันธุ์จันท์โอชา" นอกจากนี้ยังจัด "พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การปักดำ และจัดการแสดงพื้นบ้าน "ชุดดำนาพาเพลิน" รวมทั้งแจกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวให้แก่ผู้ร่วมงาน อาทิ ขนมนิ่มนวล ไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำข้าวกล้องงอก และสบู่น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองโบราณของภาคตะวันออก และสืบสานประเพณีวิถีดั้งเดิมของชาวนาไทย รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภาคีรอบศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ควบคู่การร่วมมือกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งยั่งยืนตลอดไป
ที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ได้จัดทำแปลงวิจัยการปลูกป่าแบบวนเกษตรโดยปลูกข้าวร่วมกับการปลูกป่า เริ่มตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้พันธุ์ข้าวศรีโสธร มีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จึงทดลองหมุนเวียนปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งได้ทำการวิจัยฟื้นฟูป่าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องเรียกว่า "วนเกษตร" เป็นการปลูกพืชเกษตรอายุสั้นร่วมกับไม้ป่ายืนต้นผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน โดยพืชเกษตรที่คัดเลือกมาปลูกดังกล่าว ได้แก่ สับปะรด กล้วย ผักสวนครัว และข้าว มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงเป็นประธานในงาน "ลงแขกเกี่ยวข้าว"
สำหรับปีนี้ เป็นฤดูกาลที่ 4 ซึ่งได้คัดเลือกข้าวหอมพันธุ์นางพญาแม่ทองดำ เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองโบราณที่ทรงคุณค่าของภาคตะวันออก พบปลูกเฉพาะในตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มากว่า 50 ปี และข้าวเหนียวพันธุ์จันท์โอชา (จันท์ คือ จันทบุรี / โอชา คือ อร่อย) เป็นข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองของ จ.จันทบุรี ที่มีความหอมและรสชาติอร่อย
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จัดตั้งโดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้จากประสบการณ์ มาสู่การพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การฟื้นฟูป่าครบวงจร และยังทำหน้าที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกและฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศให้แก่เยาวชนผ่านหลักสูตรนิเวศท้องถิ่นที่จัดทำขึ้นร่วมกับสถานศึกษารอบพื้นที่ นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ยังได้รับรางวัลจากสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ International Federation of Landscape Architects หรือ IFLA ประเภท "การพัฒนาหรือสร้างสรรค์แหล่งที่อยู่ความหลากหลายทางชีวภาพ และสัตว์ป่า" ที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2561 ได้อย่างน่าภาคภูมิใจอีกด้วย