สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “83.21% ไม่สนนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ดูคุณภาพการทำงาน”

ศุกร์ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๕๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสี่ปีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" สำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 สิงหาคม พ.ศ.2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,203 คน

นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจสามฝ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุกในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ถึงแม้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญประชาชนจะไม่ได้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจึงเป็นตำแหน่งที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ของที่มาว่าจำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่สังคมต้องการ เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ มีบุคลิกความเป็นผู้นำ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นี้เป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 4 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้นก็มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมถึงจุดเด่นจุดด้อยในฐานะนายกรัฐมนตรีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสี่ปีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 และเพศชายร้อยละ 49.71 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับคุณสมบัติสำคัญของนายกรัฐมนตรีที่กลุ่มตัวอย่างต้องการมากที่สุด 5 ประการ คือ มีความซื่อสัตย์สุจริตคิดเป็นร้อยละ 89.11 ทำงานเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญคิดเป็นร้อยละ 86.87 ไม่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง/คนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 84.54 มีความจริงใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 81.8 และมีบุคลิกความเป็นผู้นำ/กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดคิดเป็นร้อยละ 79.05

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการให้ความสำคัญระหว่างคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารงานกับที่มาของนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.21 ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญกับคุณภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.88 ระบุว่าให้ความสำคัญเท่าๆ กันทั้งสองเรื่อง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.91 ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญกับที่มาของนายกรัฐมนตรีมากกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.83 ไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่มีที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ให้ประชาชน/ชาวบ้านมากกว่านายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 21.36 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.81 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อจุดเด่นและจุดด้อยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรีมาสี่ปีนั้น จุดเด่น 3 ประการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นนายกรัฐมนตรีมา 4 ปี ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ มีความจงรักภักดีเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์คิดเป็นร้อยละ 86.03 มีความตั้งใจทำงาน/แก้ปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 83.87 และมีความเป็นกันเองกับชาวบ้าน/ประชาชนคิดเป็นร้อยละ 82.29

ส่วนจุดด้อย 3 ประการ ได้แก่ มักมีอารมณ์ฉุนเฉียวเวลาให้สัมภาษณ์คิดเป็นร้อยละ 83.79 พูดเร็วเกินไปเวลาสื่อสารโดยตรงผ่านสื่อสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 82.04 คนใกล้ชิด/ญาติพี่น้องมีพฤติกรรมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมคิดเป็นร้อยละ 80.55

ส่วนเรื่องที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาในปัจจุบันมากที่สุด 5 เรื่อง คือ เรื่องปากท้อง/ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นร้อยละ 86.7 เรื่องการทุจริตต่างๆในหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 84.95 เรื่องพฤติกรรม/การทำงานที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐคิดเป็นร้อยละ 82.63 เรื่องอาชญากรรม/ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 80.38 และเรื่องราคาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตกต่ำคิดเป็นร้อยละ 78.22

ในด้านความคิดเห็นต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีและการตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.49 ระบุว่าตนเองยังคงไว้วางใจที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.2 ไม่ไว้วางใจแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.31 งดออกความเห็น/ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.03 เห็นด้วยหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.75 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.22 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ