ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการประชุม "คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน" ครั้งที่ 6 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ และทั่วโลกด้วยเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งการใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากได้เข้ามาร่วมมือกับบริษัทเอกชนไทย และรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ไทยและจีนจะเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันอีกหลายด้าน ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่เชื่อม EEC และฮ่องกง ศูนย์ข้อมูลในไทย การพัฒนาสนามทดสอบและพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงต้น ที่จะเชื่อมไทยเข้ากับเส้นทาง One Belt One Road โดยความร่วมมือไทย-จีนครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน
การประชุมฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในหลายด้าน นำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ถึง 10 ฉบับ มีในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานในสังกัดฯ 5 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย และเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง (Principal Term Sheet of Thailand – Hong Kong Submarine Cable) เป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ บริษัท CAC Telecom International Limited (CAC) ประเทศจีน เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดความร่วมมือจากข้อตกลงความร่วมมือเดิมที่เคยลงนามร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ ตามวัตถุประสงค์เดิมที่จะร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ Thailand- Hong Kong Submarine Cable (THK) ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้จะคลอบคลุมถึงการศึกษาในรายละเอียด อาทิ รูปแบบของระบบเคเบิลใต้น้ำที่ก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในระบบเคเบิลใต้น้ำที่ร่วมก่อสร้างของแต่ละหน่วยงาน แผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ความร่วมมือในการหาพันธมิตรและผู้ใช้งานระบบ รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เกิดการใช้งานระบบอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมาย
2) บันทึกข้อตกลงเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เนตในประเทศไทย (Memorandum of Understanding of Internet Data Center in Thailand) เป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่าง CAT และ CAC ของจีน ต่อยอดจากข้อตกลงความร่วมมือการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ THK โดยข้อตกลงฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่คลอบคลุมถึงรูปแบบการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจ แผนการดำเนินการและการตลาด รวมถึงแนวทางการดึงดูด content provider รายหลัก โดยเฉพาะของประเทศจีน ให้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
อีก 3 ฉบับ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กับภาครัฐ และภาคเอกชนของจีน ได้แก่
1) ความร่วมมือในการพัฒนาสนามทดสอบและพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงต้น (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ON EXPLORATION TESTBED AND EARLY ADOPTION OF 5G TECHNOLOGY PARTNERSHIP) ระหว่าง depa และ บริษัท Huawei ประเทศไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยี 5th Generation (5G) อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมดิจิทัลอื่นๆ อีกมากมาย โดยความร่วมมือนี้จะครอบคลุมการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้คลื่นความถี่เพื่อทดสอบระบบ 5G การสร้างพันธมิตรระหว่างหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชนในภาคอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาสนามทดสอบ 5G และการพัฒนาแอปพลิเคชั่น 5G เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงต้น และพร้อมจะทำงานกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในไทย และบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลก
2) ความร่วมมือพหุภาคีในการพัฒนา EEC Startup Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ON THE DEVELOPMENT OF EEC STARTUP HUB) ระหว่าง depa กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และบริษัท Tus-Holdings ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิด Startup Hub ในพื้นที่ EEC โดยกิจกรรมความร่วมมือจะให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การพัฒนา Startup Hub โดยเน้นศึกษาและสร้างโมเดลในการพัฒนา EEC Startup Hub และส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ (2) พัฒนาระบบสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล โดยเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ และความเชี่ยวชาญ การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาโมเดลการสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนากลไกการบ่มเพาะธุรกิจ และกลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุน Startup รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล และ (3) พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล โดยเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ไปจนถึงการศึกษาโอกาสเพื่อร่วมกันจัดโครงการพัฒนากำลังคนดังกล่าว
3) ความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันไอโอทีและดิจิทัลพาร์คประเทศไทย (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ONTHE DEVELOPMENT OF DIGITAL PARK THAILAND AND IOT INSTITUTE) ระหว่าง depa และบริษัท Tus-Holdings ของจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาสถาบันไอโอทีและดิจิทัลพาร์คประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นกิจกรรมความร่วมมือที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์สำหรับการพัฒนาดิจิทัลพาร์ค หรือเขตพื้นที่นวัตกรรม การแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนในดิจิทัลพาร์คร่วมกัน การจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุน สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล จากทั้งสองประเทศ การจัดโปรแกรมพัฒนากำลังคนที่เน้นกิจกรรมการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระหว่างกันและกัน ไปจนถึงการจัดกิจกรรมความร่วมมืออื่นๆ ที่สนับสนุนการดำเนินการของสถาบันไอโอที และดิจิทัลพาร์ค โดยความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนับเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบดิจิทัลบนฐานนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล