ผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ สมองกลอัจฉริยะต่อระบบการผลิต เศรษฐกิจและตลาดแรงงาน

จันทร์ ๒๗ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๒๗
17.00 น. 26 ส.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะต่อการผลิต ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและราคาหุ่นยนต์ ราคา ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะที่ลดลงถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุปสงค์ต่อการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิต การบริการเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะเติบโตในระดับสูง โอกาสของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์แต่อยู่ที่การเป็นผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator) และ ติดตั้งระบบอัตโนมัติให้กับผู้ใช้งานมากกว่า

เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ จะเข้ามาพลิกโฉมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและการบริการ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคบริการจะมีผลิตภาพสูงขึ้น คุณภาพผลิตภัณฑ์ดีขึ้นและเป็นมาตรฐาน โดยในช่วงแรกต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงเพื่อเปลี่ยนจากระบบที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้นเป็นระบบที่ใช้ทุนเทคโนโลยีเข้มข้นแทน เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะทำให้อัตราความเสียหายในการกระบวนการผลิตลดลง ต้นทุนลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาดและผลกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่ภาครัฐภาคเอกชน และแรงงานไม่ควรละเลย ในบางกิจการนั้น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้มากกว่า 70% ประเทศที่มีค่าแรงสูงมากเกินไปและมีระบบคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอ่อนแอจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานคนมากที่สุด

ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดการจ้างงานโดยรวม

ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 15% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2018-2020) และคาดการณ์ว่าจะมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ สัดส่วนประชากรในวัยแรงงานลดลง ราคาหุ่นยนต์ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น กรณีของไทย เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระยะเวลาการใช้งาน กับ ค่าจ้างแรงงานในปัจจุบันพบว่า การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์เริ่มอยู่ในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว ทำให้การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ขณะที่ Economic Intelligence Unit (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้แรงงานกว่า 6.5 แสนคนหรือ 15% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในภาคการผลิตจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมภายในปี ค.ศ. 2030

กิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น "ผู้ซื้อ" และ "ผู้รับ" เทคโนโลยีมากกว่าเป็น "ผู้ขาย" และ "ผู้สร้าง" เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ส่วนผู้ประกอบการหุ่นยนต์ไทยมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นในตราสินค้า ขนาดการผลิตไม่ใหญ่พอจึงไม่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด

แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคน ร้อยละ 45 เป็นเพศหญิงและร้อยละ 55 เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ร้อยละ 67 จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป การส่งเสริมให้มีการ Reskill พัฒนาทักษะ ประสิทธิภาพและผลิตภาพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจึงมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ "มนุษย์" ทำงานร่วมกับ "หุ่นยนต์" และ "สมองกลอัจฉริยะ" ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้ และต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่และมีนโยบายที่ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยไม่ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเพราะไม่มั่นใจว่ากิจการหรือธุรกิจของตนจะประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ได้อย่างไร ขั้นตอนและกระบวนการผลิตส่วนใดที่สามารถใช้ได้และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การลงทุนและการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในหลากหลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวอยู่ที่ 30-80% โดยเฉลี่ย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ