ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงห่วงใยภัยจากสื่อออนไลน์ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการ “Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง”เตรียมความพร้อมคนไทยรู้เท่าทันการใช้สื่อดิจิทัล

จันทร์ ๒๗ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๕๘
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ในพิธีเปิดโครงการ "Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง" ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว อินเทอร์เน็ตจะไปถึงทุกบ้าน การสื่อสารและการเสพข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หากประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนปราศจากความรู้ความเข้าใจและทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อาจเกิดภัยอันตรายที่บ่อนทำลายคุณภาพชีวิต และคุกคามสุขภาวะของสังคมไทย ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ที่เป็นปราการสำคัญที่สุดในการคัดกรอง สอดส่องดูแล ตลอดจนปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศในยุคดิจิทัล รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้เกิดการเสพสื่ออย่างใช้สติ มีสไตล์ และถูกต้อง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงจัดโครงการ "Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง" เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความสนใจ สร้างความตระหนักในการใช้สื่อดิจิทัล และเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประเดิมจัดกิจกรรมเดินสายให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัล ระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคมนี้

โดยได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษ คุณวิทวัส ชัยปาณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเอทีฟ จูซ จีวัน จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อดีตกรรมการ กสทช. มาร่วมแสดงทัศนะ โดยคุณวิทวัส กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่มีคนเสพค่อนข้างมากเพราะเข้าถึงง่ายและสะดวก ขณะเดียวกันทุกคนยังสามารถตั้งตนเป็นสื่อได้ด้วย ทำให้น่าเป็นห่วงเรื่องการขาดคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีหน่วยงาน องค์กร ออกกฎหมายเข้ามากำกับดูแลด้านการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้เต็มที่ ฉะนั้นวิธีการเสพสื่อออนไลน์ที่เหมาะสมสามารถเริ่มต้นได้จากครอบครัว ที่จะแนะนำกันในการวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้รับมาอย่างมีสติ และตรวจสอบให้แน่ใจก่อนจะส่งต่อไปให้กับผู้อื่น เพราะการแชร์ข้อมูลที่มีสไตล์ คือการแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่เข้มแข็ง

รองศาสตราจารย์ สุธรรม อยู่ในธรรม กล่าวว่า ขอให้ทุกคนพึงระลึกไว้ว่าทุกอย่างที่ทำไปในโลกออนไลน์จะถูกบันทึกอยู่ในอินเทอร์เนต ไม่มีหมดเวลา ไม่มีหมดอายุ และไม่สามารถลบได้ ดังนั้น จึงควรคิดและไตร่ตรองให้ดีก่อนโพสต์หรือแชร์อะไร โดยเฉพาะเรื่อง Cyber bullying เพราะมีผลกับจิตใจของผู้ถูกกระทำ

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการผ่านสื่อผสมแบบ interactive เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัล ผ่านภาพอินโฟกราฟิก เกมตอบคำถามเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงมัลติมีเดียในรูปแบบการ์ตูน เพื่อสร้างความน่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มผู้ชมให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเสวนา ในหัวข้อ "จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ก่อนแชร์ต้องคิด!!" ของ 2 ดาราดัง ไมค์ ภัทรเดช สงวนความดี และพีค ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ ร่วมกับคุณสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความชื่อดังเจ้าของฉายา เปาบุ้นจิ้น เมืองไทย คุณสงกานต์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ว่า การแชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลให้แน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ละเมิด ไม่หลอกลวงผู้อื่น ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแฝงตัวในสื่อออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ การแอบอ้างรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัย และสัตว์พเนจร ที่ไม่เป็นจริง อาศัยความรู้สึกสงสารหลอกลวงเงิน ทุกคนควรใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ และเพื่อความเป็นธรรมให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นและสังคม

ไมค์ ภัทรเดช สงวนความดี ซึ่งเคยมีประสบการณ์โดยตรงในเรื่องการแชร์ข้อมูลโดยไม่คิดมาแล้ว เห็นว่า "ส่วนตัวผม จากที่เคยถูกแชร์เรื่องที่ไม่เป็นความจริงในหลาย ๆ เรื่อง ที่หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับผู้ที่ถูกกระทำไม่ตลกด้วย แต่ข้อดีของการนักแสดงคือทำให้มีโอกาสที่จะบอกสังคมได้ว่าความจริงคืออะไร ในกรณีที่เป็นคนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในสังคมและโดนแชร์ในเรื่องเสียหายก็มีผลกระทบกับการมีชีวิตในสังคมของเขา ดังนั้น ทุกคนต้องรู้จักใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ว่ามีสื่ออยู่ในมือแล้วจะต่อว่าใครก็ได้ และควรเลือกแชร์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แสดงความสามารถของตนเองในเชิงพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่"

พีค ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ ขอฝากข้อคิดในเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ไว้ว่า "ตอนนี้ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่เราสามารถเสพสื่อและสร้างตัวเองเป็นสื่อได้ แต่อย่าใช้โซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายอารมณ์ ต่อว่าคนอื่น เพราะบางครั้งมันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ แม้จะลบออกจากพื้นที่ของเราได้ แต่มันก็อาจจะยังปรากฏต่อไปอยู่บนออนไลน์จากการแคปภาพหรือการแชร์จากคนอื่น เพราะฉะนั้นใช้โซเชียลมีเดียในเชิงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจะดีกว่า"

ติดตามรายละเอียด และความเคลื่อนไหวของโครงการ "Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง" ได้ทางเว็บไซต์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ www.cra.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version