นายอธิคม กล่าวเสริมว่า " สภาวะอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากการเกิดขึ้นของโรงกลั่นใหม่หลายแห่ง ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตสูง ทำให้โรงกลั่นที่มีอายุการใช้งานมานาน มีความสามารถในการแข่งขันลดลง นอกจากนี้ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำมันเตากำมะถันสูงซึ่งคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการประกาศห้ามใช้ในเรือเดินสมุทรขององค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ(International Maritime Organization หรือ IMO) และแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน ตามการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและการเดินทางทางอากาศ เป็นต้น "
" เพื่อรองรับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไทยออยล์จึงริเริ่มโครงการ CFP ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยจะทำการก่อสร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีกำลังการกลั่นสูงมาทดแทนหน่วยกลั่นน้ำมันเดิมซึ่งมีอายุการใช้งานมานาน ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดขึ้น การติดตั้งหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์เพื่อเปลี่ยนน้ำมันเตาและยางมะตอยเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น การลงทุนโครงการ CFP ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในหลายๆ ด้าน อาทิ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างโอกาสการเป็น Energy Hub ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) สนับสนุนการขับเคลื่อนและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้โครงการ CFP ยังผลิตสารตั้งต้นของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีซึ่งสามารถสนับสนุนโครงการปิโตรเคมีระยะ 4 ของภาครัฐ อีกด้วย "
ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันมีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top Quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่งทางเรือและทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด ธุรกิจบริการจัดเก็บน้ำมันดิบ น้ำมันปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และธุรกิจให้บริการด้านการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรสำหรับกลุ่มไทยออยล์