“NPK easy” นวัตกรรมสร้างสุขภาวะชุมชน โรงเรียนวชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประกวดผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

อังคาร ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๑๕
"หนองป่าครั่ง" เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ติดกับพื้นที่ของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ในสถานะเทศบาลตำบล ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน เป็นชุมชนเมืองที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง มีมหาวิทยาลัย มีโรงเรียน และสถานประกอบกิจการต่างๆ ทำให้เป็นพื้นที่ๆ มีแหล่งงานจำนวนมาก จึงกลายเป็นชุมชนที่มีทั้งประชากรดั้งเดิมและมีประชากรแฝงซึ่งอพยพเข้ามาทำงานมากกว่าประชากรในพื้นที่

และภายใต้สังคมกึ่งเมืองที่กำลังขยายตัว ทำให้ชุมชนหนองป่าครั่งมีปัญหาด้านสุขภาวะแฝงอยู่ในชุมชนหลายด้าน อาทิ ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาโภชนาการปนเปื้อนสารเคมี ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จากวิธีการกำจัดเศษใบไม้ของชาวบ้านด้วยการเผา ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของ โรงเรียนวชิรวิทย์ คิดหาหนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในชุมชนที่มีผลกระทบต่อตนเอง

"แต่ก่อน ตอนเราเดินมาโรงเรียนจะได้กลิ่นได้ควันการเผาเศษใบไม้ เศษขยะทุกวัน และหลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมกับชาวบ้านในชุมชน พบว่า ชาวบ้านประสบปัญหามลภาวะทางอากาศ กินอาหารปนเปื้อนสารเคมี และบางคนอยู่ในสถานะว่างงาน" "น้องนุช"จุติมาพร วสะวานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงสภาพปัญหามลพิษทางระบบหายใจนี้ทำให้กลุ่มนักเรียนสนใจที่จะทำกิจกรรมกับชุมชนรอบโรงเรียน

ประกอบกับทางโรงเรียนมีกิจกรรมของ "ชมรมเกษตรพอเพียง" ซึ่งได้รับความรู้จากการไปดูงานในที่ต่างๆ และได้นำมาทดลองทำและประยุกต์ใช้ภายในโรงเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเอาความรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่จากชมรมออกไปเผยแพร่สู่ชุมชน

"จากความรู้ที่มี เราพัฒนาเป็น 5 นวัตกรรมเผยแพร่สู่ชุมชน ได้แก่ สะดิ้งไฮโซ ถังขยะออมเงิน ผักไฮโดรออร์แกนิกส์ บ้านไส้เดือน AF และ Baby Nutri life เพาะต้นอ่อนผักค่ะ" "น้องแบม" ณัฐริกา ไลย์ นักเรียนชมรมเกษตรพอเพียง โรงเรียนวชิรวิทย์ เล่า

แม้การเลี้ยงไส้เดือนจิ้งหรีดหรือปลูกผักเพาะต้นอ่อนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการผลิตอาหารออแกนิกส์และชุมชนเกษตร แต่กิจกรรมของชมรมเกษตรพอเพียงโรงเรียนวชิรวิทย์ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมอย่างเต็มภาคภูมิเพราะสามารถประยุกต์ความรู้ทั่วไปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและชุมชนที่มีพื้นที่จำกัดด้วยการออกแบบ "คอนโดจิ้งหรีดและไส้เดือน" รวมไปถึงการนำกล่องโฟมซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากร้านอาหารในท้องถิ่นมา "ปลูกผักไฮโดรออร์แกนิกส์" ที่ออกแบบให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อหมุนวนน้ำ และกลุ่มกิจกรรมของชมรมยังสามารถเวียนใช้ผลผลิตได้ เช่นการนำ "ปุ๋ยจากไส้เดือน" ที่ผลิตมาใช้กับการปลูกผัก

และนอกจากนั้น "ถังขยะออมเงิน" ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายก็ถูกพัฒนามาจากปัญหาขยะและเศษใบไม้ในชุมชน ถังขยะธรรมดาเพื่อการรีไซเคิลถูกนำมาทำเป็นถังปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ เพื่อใช้หมักเศษใบไม้โดยจะใช้เวลาในการหมักที่เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการกำจัดเศษใบไม้ด้วยเผาที่ทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และนำปุ๋ยที่ได้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ

ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จของชมรมฯ ผลักดันให้เยาวชนนักกิจกรรมก้าวเข้าสู่ความต้องการที่จะเผยแพร่ผลงานของตนเองในวงกว้างมากขึ้น ทั้งสองจึงร่วมกับ "น้องนุ้ย" ดวงกมล เลี้ยงเชื้อ เพื่อนสมาชิกชมรมเกษตรพอเพียง ต่อยอดผลงานที่ทำในชื่อ "โครงงาน NPK easy" และส่งกิจกรรมเข้าร่วม ประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth INNO Awards ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบ่มเพาะ "เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ" โดยเปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่รุ่นใหม่ระดับมัธยมและอาชีวศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในรูปแบบแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน

หลังเข้าร่วมกิจกรรม Workshop เพื่อเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน กลุ่มสาวน้อยนักคิด WS Stable inno ทั้งสาม ก็ก้าวข้ามตนเองไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาผลผลิตที่ได้ ไปสู่การรับซื้อผลผลิตจากชุมชนเข้าสู่กระบวนแปรรูปผลผลิต ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่าย จากแมงสะดิ้งแช่แข็งกลายเป็น "แมงสะดิ้งทอด" จากผักสลัดไฮโดรออร์แกนิกส์กลายเป็น "สลัดโรลพร้อมรับประทาน" บรรจุภัณฑ์ของ "ปุ๋ยไส้เดือน" ทั้งอย่างแห้งและน้ำถูกคิดค้นขึ้นอย่างสวยงาม

ที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปลงสู่ชุมชนพร้อมๆ กับความรู้เรื่องการทำบัญชีรับจ่ายให้ชุมชนรู้จักการทำบัญชีเพื่อการค้า และรวมไปถึงการเปิดตลาดกลางการซื้อขายขึ้นในโรงเรียน

จากผลงานทั้งหมด 134 ทีม ผ่านการคัดเลือกรอบแล้วรอบเล่า "โครงงาน NPK easy" โดยทีมสาวๆ นักคิด "WS Stable inno" จาก โรงเรียนวชิรวิทย์ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา ครูวิลาวัลย์ หล้าหลอด ที่ปรึกษา ก็ทะลุผ่านเข้าสู่รอบ 19 ทีมสุดท้าย และโดนใจคณะกรรมการในรอบตัดสินจนสามารถคว้า "รางวัลชนะเลิศ" จากการประกวด นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth INNO Awards ในระดับมัธยมศึกษา ไปครองได้จากนวัตกรรมง่ายๆ แต่ใช้ได้จริงในชุมชน

"พวกเขาทำให้ไอเดียกลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านจับต้องได้ สร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยการถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพจากโรงเรียนสู่ชุมชนพร้อมๆ ควบคู่ไปกับการดึงความรู้จากชุมชนมาพัฒนาและส่งต่อ ส่งผลคนในชุมชนตระหนักและเห็นความสำคัญของคำว่าสุขภาวะ และเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศและปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ที่ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเอง สิ่งสำคัญคือพวกเขายังสามารถต่อยอดตนเองจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน และหนุนเสริมชุมชนให้ต่อยอดไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ระบบการทำบัญชีต้นทุนรายรับรายจ่าย และมีกระบวนการถ่ายทอดการทำงานในโรงเรียนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เกิดเป็นความยั่งยืนในการทำงานร่วมชุมชน"

ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายมัธยมศึกษา อธิบายปัจจัยแห่งความสำเร็จของทีมสาวน้อย WS Stable inno ซึ่งกรรมการทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่ามีความโดดเด่นและสมบูรณ์ ควรค่าแก่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาในการประกวดครั้งนี้

ถึงแม้ทั้งสามสาวน้อยกำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษานี้ แต่ก็ได้วางแผนสืบทอดการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชนหนองป่าครั้งไวเต่อเนื่องไว้แล้วโดยส่งต่องานให้แก่รุ่นน้องในชมรม

"ชมรมรมเกษตรพอเพียงมีทั้งเด็กนักเรียน ม.4 ม.5 และ ม.6 โดยน้องๆ จะได้ลงทำงานในชุมชนไปพร้อมๆ กับทีมของเรามาตลอด น้องๆ ซึ่งมีความเข้าใจงานและสนใจก็จะทำงานต่อไป และรวมถึงการค้นคิดทำนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนได้ต่อไปในอนาคต" "น้องนุ้ย" ดวงกมล เลี้ยงเชื้อ กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และนักเรียนสายอาชีวศึกษา มีโจทย์หลักคือความต้องการที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้

"สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิดขึ้นกับทั้งลูกศิษย์และครู โดยทั้ง 19 ทีมสุดท้ายทั้งลูกศิษย์และครูได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อบ่มเพาะทักษะความรู้ ความสามารถด้านการวิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมให้สามารถใช้ได้จริง เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง สสส. ได้วางแผนการทำงานร่วมกับครู อาจารย์ ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผลในวงกว้าง เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคน และความคิดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มสิ่งใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างเสริมสุขภาพให้กับทุกคนในสังคมไทย" ผู้จัดการ สสส.กล่าวสรุป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ