นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าที่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความอันตรายของสัตว์มีพิษว่า
ขณะนี้ เป็นช่วงหน้าฝน บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ประชาชนอาจได้รับอันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง โดยเฉพาะงู ที่หนีน้ำมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านกัดได้ จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินในบริเวณที่รก มีหญ้าสูง
ที่น่าห่วงคือยังมีประชาชนบางส่วนเข้าใจผิด บางส่วนอาจจดจำจากละครว่า หากถูกงูกัดให้ดูดแผลเพื่อเอาเลือดที่มีพิษงูออกจากแผล หรือกรีดแผลแล้วพอกยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจะทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักได้
วิธีที่ถูกต้องคือ ต้องล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหวขาหรือแขนที่ถูกกัดน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดาน กระดาษแข็งๆ รองดามไว้ รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากทำได้ขอนำซากงูที่กัดไปด้วย เพื่อให้การรักษาถูกต้อง รวดเร็ว
สำหรับการขันชะเนาะ โดยใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกงูกัดให้แน่นพอสอดนิ้วได้ แล้วคลายออกทุก 15 นาที ช่วยลดปริมาณพิษงูแผ่ซ่านได้เพียงเล็กน้อย
อาจได้ประโยชน์บ้างในกรณีที่เป็นงูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท และไม่สามารถไปพบบุคลากรทางการแพทย์ได้ในเวลาอันสั้น
แต่โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากมักทำไม่ถูกวิธี รัดแน่นและนานเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือด และยังห้ามทำในกรณีที่เป็นงูพิษต่อระบบเลือด
เพราะจะทำให้มีการบวมและเลือดออกบริเวณแผลมากขึ้น จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ในปี 2558 มีรายงานผู้ถูกงูกัด 4,618 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้ป่วยสูงสุดในเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ หากถูกงูกัด สามารถสังเกตว่าเป็นงูพิษหรือไม่ โดยดูจาก 1.รอยเขี้ยว มี 2 ข้าง และมีอาการบวมแดงรอบ ๆ รอยกัด บางครั้งอาจเห็นเพียงรอยเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกกัดบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบางครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอยในกรณีที่ถูกกัดมากกว่า 1 ครั้ง 2.อาจมีอาการปวดอย่างรุนแรง 3.คลื่นไส้อาเจียน 4.หายใจติดขัด หากรุนแรงอาจหยุดหายใจได้ 5.สายตาขุ่นมัว 6.มีน้ำลายมากผิดปกติ และ 7.หน้าชาไม่รู้สึกหรือชาตามแขนขา โดยพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู เช่นงูเห่างูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา จะมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจ
สำหรับ กรณีที่เป็นข่าวไม่พอใจ รพ.เนื่องจากรอช้า และ เหตุสลดใจ เมื่อ ด.ช.อาริล วัย 14 ปี ชาวอินโดนีเซีย โพสต์รูปถ่ายขอความช่วยเหลือหลังถูกงูเห่า ( สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียบางแห่งรายงานว่าเป็นงูจงอาง ) โดยเป็นงูที่เขาเลี้ยงไว้กัดแขนขณะอยู่บ้าน แต่ไม่ถึง 12 ช.ม. ก็เสียชีวิตลง เหตุเกิดที่เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย
เนื่องจากตัวเขาไม่ไปหาหมอ แต่พยายามใช้เชือกผูกรองเท้ารัดรอบแขนเพื่อห้ามเลือดไม่ให้พิษงูแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณผิดๆ และสื่อนำเสนอไม่ถูกต้อง ประชาชนยังจำภาพ และ มุกตลก เช่น งูกัดมือ เอาเชือกมาผูกแขนกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ.......เป็นต้น