วสท. จัดเสวนา “รัฐ กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561”

พุธ ๒๙ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๓๐
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ และคุณมนูญ อาระศิริ ประธานคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส และคณะกรรมการวิศวกรรมโยธา เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "รัฐ กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561" ณ อาคาร วสท.เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำ ปี 2561 จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดการสถานการณ์ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำท่วม ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐในงานจัดการน้ำท่วมและสนับสนุนงานด้านสาธารณภัยของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

จากสถานการณ์ที่มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งนำมาสู่ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และเหตุการณ์เขื่อนแตกใน สปป. ลาว ที่สร้างความกังวลใจแก่ภาคประชาชนต่อสถานการณ์และความเสี่ยงของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม รวมถึงการพังทลายของเขื่อน โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและงานสาธารณภัย อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ให้การสนับสนุนข้อมูลและการปฏิบัติงานในทุกระดับ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถคลายความกังวลใจของภาคประชาชนลงได้ และการที่สื่อหลายสำนักยังคงตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพการเตือนภัย และการรับมือภัยพิบัติของหน่วยงานรัฐโดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์และความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นในมหาอุทกภัย ปี 2554 ยิ่งเป็นการตอกย้ำความกังวลใจของภาคประชาชน

เวทีเสวนา เรื่อง "รัฐ กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561" มีผู้เชียวชาญ 6 ท่านร่วมเวทีประกอบด้วย คุณอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.), คุณสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา กรมชลประทาน, คุณภุชพันธ์ ศิริทรัพย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองอุตุนิยมวิทยาการบิน, ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ, ดร.สมภพ สุจริต คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และคุณวีระพงษ์ ศรีนวกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ โดยแต่ละองค์กรมีข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน คสช. จึงได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 60 เพื่อเป็นศูนย์กลางเตรียมรับมือการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ โดยดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ นโยบายแผนแม่บท มาตรการในการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ และแนวทางแก้ไขเชิงบูรณาการ 12 ปี สร้างการรับรู้ข้อมูลกับคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารน้ำ 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย โดยในงานเสวนาครั้งนี้ มีข้อเสนอให้ สทนช. เป็นแหล่ง Data Center ที่สามารถดูแลจัดการ เป็นศูนย์รวมข้อมูลและคัดกรอง โดยหากมีหน่วยงานใดที่จะบริหารจัดการน้ำ สทนช. เปิดกว้างให้ผู้ดำเนินการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลน้ำนี้ได้

นายสมภพ สุจริต คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีจุดบอดเนื่องจากไม่มีสถานีวัดน้ำฝน ทำให้การประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำเป็นไปได้ยาก จะรู้ตัวอีกครั้งเมื่อปริมาณน้ำมหาศาลแล้ว ดังนั้น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยข้อมูลดังกล่าว ต้องเป็นฐานข้อมูลที่บ่งบอกสถานการณ์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะให้มีการทดลองปล่อยน้ำให้เต็มลำน้ำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการทดสอบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบระบายน้ำจะทำงานได้เป็นปกติ และการคาดการณ์พื้นที่ที่ฝนจะตก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์จัดการน้ำได้แม่นยำยิ่งขึ้น

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝนของปี 2560 กับ ปี 2561 ไม่ต่างกันมาก ขณะที่น้ำในอ่างทั้งหมดไม่วิกฤติมากยังรองรับน้ำได้ 20,088 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ดำเนินการ เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อทำเป็นพื้นที่ชะลอน้ำและเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยเตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ 1.5 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านล้าน เพื่อที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก รองรับน้ำที่จะไหลมาจากภาคเหนือเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ตั้งแต่ปทุมธานี อยุธยา กทม.คาดว่าจะรองรับน้ำช่วงฤดูฝนและพายุที่จะเกิดขึ้น 1-2 ลูก

นายมนูญ อาระศิริ ประธานคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วสท. กล่าวทิ้งท้ายว่า "ปัญหาการจัดการน้ำ เป็นเพราะน้ำไม่อยู่ในที่ที่เราต้องการ โดยการจัดการน้ำที่สมบูรณ์นั้น น้ำต้องระบายออกและเก็บได้ตามที่เราต้องการ เพราะน้ำที่ไม่พึงประสงค์ยังอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ ทำที่กักเก็บน้ำและเส้นทางระบายน้ำที่ทั่วถึง รวมถึงควรเพิ่มปริมาณพนังกั้นน้ำ ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อยู่อาศัยท้ายเขื่อนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมน้ำจากประเทศญี่ปุ่น มร.อิมเบะ อาซิท (Imbe Arsit) และ มร.โอซากิ ทากัตสุกุ (Ozaki Takatsugu) มาให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการออกแบบที่ก้าวหน้า และข้อกำหนดการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำรอระบายสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมนำเสนอวัสดุ รูปแบบโครงสร้างราคาประหยัด ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำท่วม–น้ำแล้ง ด้วยแก้มลิงได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ