1. การชี้แจงกรณีเอื้อประโยชน์บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่าตามที่มีบางเว็บไซต์บางแห่งกล่าวถึงกรมศุลกากร เกี่ยวกับการช่วยเหลือบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เลี่ยงภาษี นั้น กรมศุลกากรขอชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้
ประเด็นแรกในปี 2554-2557 บริษัท เชฟรอน ใช้รหัส ZZ อันเป็นรหัสว่าส่งออกน้ำมันออกไปยังเขตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลอนุญาตให้นำน้ำมันปลอดภาษีไปขายให้เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อนำไปใช้จับปลานอกน่านน้ำไทย (โครงการน้ำมันเขียว) แต่บริษัท เชฟรอน ไม่ได้ส่งน้ำมันไปขายยังเขตต่อเนื่องจริง จึงน่าจะเป็นการสำแดงใบขนเท็จเพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ว่าส่งออกไปเขตต่อเนื่อง แต่ความจริงแล้วเอาน้ำมันไปขนลงจากเรือที่แท่นขุดเจาะเอราวัณกลางทะเล ใช่หรือไม่
ในประเด็นนี้ขออธิบายถึงรหัส ZZ คือ รหัสสำหรับเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร เป็นรหัสสถิติข้อมูลในระบบ e-Customs สำหรับส่งออก และระบุในช่องประเทศปลายทาง รหัส YY คือ รหัสประเทศสำหรับใช้นอกเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร ในส่วนของข้อเท็จจริง บริษัท เชฟรอน สำแดงระบุสถานที่ปลายทางเป็น ZZ แทนที่จะสำแดงเป็น YY (High Sea Zone) ทั้งนี้ข้อเท็จจริงกิจกรรมที่เกิดขึ้นควรสำแดงเป็น YY แต่เจ้าหน้าที่พบว่าในขณะนั้นเอกสารประกอบใบขนสินค้าขาออก เช่น Invoice, Bill of Lading ก็สำแดงสถานที่ปลายทางเป็นแท่นขุดเจาะ ประกอบกับบริษัท เชฟรอน ปฏิบัติพิธีการในการแจ้งใบปล่อยเรือขาออก ( ใบแนบ 6 แบบที่ 373) สำแดงสถานที่ส่งออกเป็นแท่นขุดเจาะ โดยขณะนั้นเป็นการปฏิบัติพิธีการครั้งแรก ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อนจึงทำให้เข้าใจว่าการสำแดง ZZ เป็นการสำแดงที่ถูกต้อง จึงเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าว บริษัท เชฟรอน ไม่ได้มีเจตนาที่จะสำแดงเพื่อฉ้อค่าภาษีโดยเป็นเพียงการระบุรหัสสถานที่ส่งออกที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น ทั้งนี้ถึงแม้ว่าบริษัท เชฟรอน จะสำแดง ZZ หรือ YY สิทธิที่ได้จากการปฏิบัติพิธีการส่งออกเป็นการปฏิบัติพิธีการส่งออกเหมือนกัน เพียงแต่บริษัทฯ ระบุรหัสสถิติข้อมูลสถานที่ปลายทางไม่เหมือนกันในระบบ e-Customs (รหัสสถิติข้อมูล)
ประเด็นที่สองในช่วงระหว่างปี 2558-2559 บริษัท เชฟรอน กลับไปซื้อน้ำมันไม่เสียภาษี แต่เปลี่ยนมาสำแดงการส่งออกด้วยรหัส YY ซึ่งเป็นการสำแดงเท็จอีกเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ใช่หรือไม่ สำหรับในประเด็นนี้ การระบุพื้นที่การส่งออกเป็น YY เป็นการระบุพื้นที่ส่งออกซึ่งตรงกับความเป็นจริง พิธีการศุลกากรขาออกหรือการยื่นเอกสารอื่นใดข้อเท็จจริงพบว่ามีการหารือระหว่าง บริษัท เชฟรอน และกรมศุลกากรร่วมกันมาโดยตลอด กรมศุลกากรไม่พบพฤติการณ์ในการเจตนาจะฉ้อค่าภาษีตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ในส่วนของประเด็นการไปยกเลิกใบขนสินค้าผิดกฎหมายที่กระทำสำเร็จแล้ว ย่อมกระทำไม่ได้ ถ้าไปยกเลิกเท่ากับไปช่วยเหลือไม่ให้ บริษัท เชฟรอน ถูกลงโทษ ใช่หรือไม่ และส่วนข้ออ้างว่าทำตามคำแนะนำของ สตง.นั้นย่อมฟังไม่ขึ้นเพราะ สตง. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆ มาสั่งหรือแนะนำให้ยกเลิกใบขนสินค้าที่ผิดกฎหมาย ในประเด็นนี้ เนื่องจากพบว่า บริษัทไม่มีพฤติการณ์ฉ้อค่าภาษีตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดที่ระบุใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 แต่เป็นการปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และบริษัท เชฟรอน ได้ทำการตกลงระงับคดีไปแล้ว การยกเลิกใบขนขาออกของกรมศุลกากรในขณะนั้น 336 ฉบับ เหตุผลเนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งผลของการยกเลิกใบขนจะทำให้บริษัทไม่สามารถนำใบขน 336 ฉบับ ไปใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้รัฐได้ประโยชน์ 1,8xx ล้านบาท หากไม่ทำการเพิกถอนใบขนสินค้าขาออกกรณีที่เป็นปัญหาดังกล่าวแล้ว ก็จะมีผลให้คำสั่งยกเว้นภาษีสรรพสามิตยังคงชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าบริษัท เชฟรอน จะนำเงินมาชำระต่อกรมสรรพสามิตก็จะเป็นการรับเงินนั้นไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงอาจเป็นเหตุต้องคืนเงินให้บริษัท เชฟรอน ในฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และถึงแม้จะไม่ดำเนินการตามหนังสือ สตง. กรมฯ ก็ต้องเพิกถอนใบขนขาออกทั้งหมด เพราะหากไม่เพิกถอนใบขนขาออกจะมีสถานะสมบูรณ์อันเป็นเหตุให้บริษัท เชฟรอน ยกเป็นข้ออ้างไม่ชำระภาษีสรรพสามิตได้ การยกเลิกใบขนต้องยกเลิกภายใน 90 วันนับแต่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันความเสียหาย
2. การแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรเก็บค่าโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า เนื่องจากกรมศุลกากรได้รับการสอบถามจากผู้ประกอบการหลายรายถึงกรณีที่มีผู้ที่อ้างตัวเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำหนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" และมีการกำหนดอัตราค่าโฆษณาไว้อย่างชัดเจนเป็นจำนวนหลักหมื่นขึ้นไป พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดเหมือนกรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือฯ และขอรับการสนับสนุน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้ว่าจ้างสื่อสิ่งพิมพ์รายใดจัดทำหนังสือรายงาน พิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" แต่อย่างใด หากผู้ประกอบการรายใดได้รับหนังสือดังกล่าว หรือลักษณะคล้ายข้อความดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อว่ากรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำครั้งนี้ของสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าว ทั้งนี้ หากท่านพบเห็นหรือสงสัยว่ามีผู้แอบอ้างกระทำพฤติกรรมดังกล่าว หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องใดๆ สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสื่อสารองค์กร กรมศุลกากร โทร 0-2667-7988 ,0-2667-7335 หรือ 0-2667-5218 หรือสายด่วนศุลกากร โทร. 1164 ในวันและเวลาราชการ
3. การแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรในการขายสินค้าในสื่อออนไลน์
นายกรีชา ยังกล่าวอีกว่า ตามที่ในสื่อออนไลน์ มีการโฆษณาขายสินค้า และแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุม นำมาใช้เพื่อการโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือนั้น ทั้งนี้กรมศุลกากรได้มีการแจ้งเตือนอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังพบว่ามีการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์อยู่ กรมศุลกากรจึงขอแจ้งเตือนประชาชนอีกครั้งว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วจะสามารถจำหน่ายได้โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้ (1) ขายทอดตลาด (2) ขายคืนเจ้าของ (3) ขายปันส่วน (4) ส่งมอบส่วนราชการ (5) ทำลาย (6) วิธีการอื่นๆ ตามอนุมัติอธิบดี ทั้งนี้ให้ดำเนินไปตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2560 โดยกรมศุลกากรจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการและจะดำเนินการโดยกรมศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากรเท่านั้น พร้อมทั้งดำเนินการชำระภาษีโดยมีเอกสารหลักฐานการชำระโดยกรมศุลกากรที่ชัดเจนตามกฎหมาย สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นการแอบอ้างหลอกลวงโดยมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและกรมศุลกากร ซึ่งในขณะนี้กรมศุลกากรได้ดำเนินการรวบรวมเพจต่างๆ ที่ปรากฏบนโซเชียลดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด
4. ผลการสำรวจการดำเนินงานของกรมศุลกากรโดยหน่วยงานต่างประเทศ
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ได้กล่าวว่า หน่วยงานต่างประเทศได้มีการสำรวจและเผยแพร่ผลการดำเนินงานของกรมศุลกากรในรอบปีที่ผ่านมา โดยพบว่ากรมศุลกากรมีผลการดำเนินงานในอันดับที่ดีขึ้น กล่าวคือ
- รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (Logistics Performance Index:LPI 2018) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก พบว่า อันดับของประเทศไทยดีขึ้นจาก อันดับ 45 เป็นอันดับ 32 จาก 160 ประเทศ โดยในส่วนพิธีการศุลกากรของไทยนั้น มีอันดับดีขึ้น จากที่เดิมเป็นอันดับ 3 โดยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์)
- รายงานเรื่อง Trade Facilitation Indicators 2018 ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หรือ OECD พบว่า พิธีการทางศุลกากรของไทยมีการพัฒนาในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านกระบวนงาน (procedure) ด้านการนำระบบ automation มาใช้ ด้านการลดจำนวนเอกสารในการผ่านพิธีการ และ ด้านกระบวนการอุทธรณ์ (appeal procedure) นั้น ในอาเซียนไทยเป็นรองเฉพาะประเทศสิงคโปร์ เท่านั้น
- การศึกษาเรื่องดัชนีสภาพแวดล้อมในการค้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย (The Global Illicit Trade Environment Index 2018) ซึ่งจัดทำโดย นิตยสาร "The Economist" สำรวจใน84 ประเทศ พบว่า ในส่วนของสภาพแวดล้อมทางศุลกากร (Customs Environment) ซึ่งเป็นการพิจารณาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่สุจริตและการปราบปรามสินค้าที่ผิดกฎหมายนั้น การดำเนินงานของกรมศุลกากรอยู่ในอันดับที่ 45 ซึ่งดีกว่าทุกประเทศในอาเซียน
นายชัยยุทธฯ กล่าวว่า แม้ผลสำรวจจะชี้ว่าการพัฒนาพิธีการศุลกากรในหลายๆด้านจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่กรมศุลกากรก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการให้บริการทางศุลกากรอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมทางศุลกากรให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากรที่ถูกต้องตรงประเด็นได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
1. website : https://www.Customs.go.th
2. Facebook : https://www.facebook.com/customsdepartment.thai/
3. Youtube : https://www.youtube.com/theprcustoms
4. Line Official Account :Thaicustoms