แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการประกวดและมอบรางวัล Best Practice สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษ ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี ว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินงานโครงการสาวไทยแก้มแดง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยได้จัดทำโครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษ เพื่อส่งเสริมให้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปี ที่พร้อม ตั้งใจ และวางแผนจะมีลูก ได้รับการสนับสนุนให้มีโภชนาการที่ดี ด้วยการเสริมธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยระยะแรกดำเนินโครงการสาวไทยแก้มแดงผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Media) เพื่อต่อยอดกระแสการรับรู้สู่การสร้างความตระหนัก สร้างทัศนคติที่ดีและสร้างช่องทางออนไลน์ เพื่อให้หญิงวัยเจริญพันธ์ลงทะเบียนเพื่อรับธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิก ในรูปแบบของวิตามิน เฟอร์โรโฟลิกผ่านเวปไซต์สาวไทยแก้มแดง และได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
"ในระยะที่ 2 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมหญิงวัยเจริญพันธ์ในสถานประกอบการให้บริโภคผัก ผลไม้ และอาหารที่ครบโภชนาการ พร้อมเสริมด้วยธาตุเหล็กและโฟเลท โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านสถานประกอบการ และได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการดำเนินงานโครงการสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษใน สถานประกอบการ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 19 แห่ง โดยมีหญิงวัยเจริญพันธ์ จำนวน 40,674 คน ที่รับมอบนโยบายและดำเนินกิจกรรมที่กำหนดไว้ภายใต้โครงการตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า การประชุมในวันนี้ กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้จัดการประกวดและมอบรางวัล Best Practice สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษ เพื่อมอบรางวัลต้นแบบสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษ ซึ่งเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของธาตุเหล็ก และโฟเลทในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติจนเกิดเป็นแนวทางการดำเนินงานสาวไทยแก้มแดงในองค์กรของตนเอง โดยในปีนี้ มีสถานประกอบการต้นแบบโครงการสาวไทยแก้มแดงที่ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีนโยบายส่งเสริมให้บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ และส่งเสริมให้บริโภคผัก ผลไม้ในสถานประกอบการอย่างชัดเจน
"สำหรับก้าวต่อไปจะมีการขยายเป้าหมายหญิงวัยเจริญพันธ์ให้ครอบคลุม เช่น หญิงวัยเจริญพันธ์ใน สถานประกอบการ โรงเรียน ชุมชน เป็นต้น พร้อมทั้งการสร้างความรอบรู้สุขภาพ (Health Literacy)ในกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึง เข้าใจ สามารถโต้ตอบ ซักถาม ตัดสินใจ จนถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสนับสนุนให้หญิงวัยเจริญพันธ์ ทุกคนสามารถเข้าถึงวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก ซึ่งบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งประสานองค์การเภสัชกรรมให้ผลิตวิตามินดังกล่าวให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน" ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว