ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลักที่จะช่วยพลิกโฉมอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากปัจจุบันสามารถระบุโจทย์ทางเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการพลิกโฉมอนาคตได้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถดำเนิน การจัดสรรทรัพยากรสำหรับการวิจัยและพัฒนาในหัวข้อเป้าหมายเหล่านั้น เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
จากความสำคัญดังกล่าวจึงเป็นที่มาของกระบวนการ "มองอนาคต" ซึ่งได้รับการยอมรับในหลายประเทศว่าเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบมุ่งเป้า ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเปล่าของการลงทุนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ตุรกี สวีเดน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้มีการจัดตั้งโครงการ/ศูนย์/สถาบัน ที่ดำเนินการมองอนาคตอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือภาพอนาคตที่จะนำไปช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องมีการดำเนินตามแนวทางดังกล่าวเพื่อให้หลากหลายกิจกรรมมีการพลิกโฉมได้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นเดียวกัน
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า NIA จึงได้ริเริ่มการจัดตั้งสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute – IFI) ขึ้น โดยกำหนดบทบาทให้เป็นสถาบันเฉพาะทางเพื่อช่วยในการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของอนาคตที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะทิศทางนวัตกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงยังสามารถช่วยในการกำหนดทิศทางและการวางแผนระยะยาวที่สามารถเอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับระบบเศรษฐกิจและการดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ในระดับประเทศ โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 3 หลัก ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ (Futurist Enablers) มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายกลุ่มนักอนาคตศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ และเข้มแข็ง
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 ศึกษาภาพและแนวโน้มอนาคต (Trend Setter) โดยเฉพาะแนวโน้มที่สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เพื่อนวัตกรรม (Enterprise Innovation) ผ่านเครื่องมือการจัดการนวัตกรรม เครือช่ายผู้ประเมินนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมให้กับกลุ่มธุรกิจ
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้หลายภาคส่วนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมองอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในช่วงตลอดสัปดาห์ของปลายเดือนสิงหาคม (27-31 สิงหาคม) นี้ NIA ยังได้จัด Thailand Future Week 2018: Towards Inclusive Future ครั้งแรกของประเทศไทยที่รวบรวมนักอนาคตศาสตร์ นักยุทธศาสตร์ นักวางแผนและนักธุรกิจเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่จะพลิกโฉมอนาคตของประเทศไทยและองค์กรให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง การออกแบบอนาคตประเทศ อนาคตระบบนวัตกรรม อนาคตองค์กรธุรกิจ อนาคตสังคม รวมถึงยังได้ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ เช่น เครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจเอกชน เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านหัวข้อต่างๆ เช่น นวัตกรรมแห่งการสร้างองค์กรแห่งอนาคต Towards National Innovation System 2030 เพื่อนำเสนอภาพอนาคตทิศทางการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand