ก่อนอื่นเลย เรามาพบบอสใหญ่ใจดีของบริษัทฯ คือ นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง ซึ่งบอกกับเราว่า "การฝึกงานในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นักศึกษาก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานในระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่หลักทรัพย์บัวหลวงเราอยากให้พวกเขาได้รับอะไรกลับไปมากกว่านั้น ผมอยากให้พากเขารู้จักการระดมสมอง ออกความคิดเห็น และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงอยากปลูกฝังให้นักศึกษา รู้จักการเป็นผู้ให้ และเห็นคุณค่าของคนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผมจึงเชื่อว่ากิจกรรม 2 อย่างที่ทางบริษัทฯมอบหมายให้พวกเขาทำ นอกเหนือจากการฝึกงานทั่วไป จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขัดเกลาความคิด และ คุณธรรมของพวกเขาได้ในระดับหนึ่ง"
การฝึกงานของบริษัทฯจะใช้เวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์ ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกนักศึกษาฝึกงานทุกคน จะได้รับการอบรมจากผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละแผนกของบริษัทฯ ที่สลับสับเปลี่ยนกันมาให้ข้อมูล เกี่ยวกับการทำงานในแต่ละแผนกให้รับทราบในภาพรวมขององค์กรก่อน เมื่อได้รับมอบหมายงานและเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของแต่ละฝ่ายแล้ว แต่ละคนก็จะไปแยกย้ายกันไปฝึกงานในแต่ละแผนกตามความเหมาะสมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และในสัปดาห์ท้ายๆ ของการฝึกงาน ทุกคนจะได้รับมอบหมายให้ร่วมกันทำโปรเจคสำคัญอย่าง Start Up Idea ซึ่งน้องๆ จะต้องแบ่งกลุ่มช่วยกันศึกษาผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพื่อนำไปคิดแผนพัฒนา หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และนำมาเสนอให้ทีมผู้บริหารฟัง ในวันสุดท้ายของการฝึกงาน
เราได้มีโอกาสคุยกับน้องแนน น.ส. สาธินี ใหม่วงศ์ นักศึกษาฝึกงานชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต คณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการเงิน ที่ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการฝึกงานครั้งนี้ว่า "หนูรู้สึกดีใจมากค่ะ ที่ได้ฝึกงานกับหลักทรัพย์บัวหลวง เพราะทำให้หนูได้เรียนรู้การทำงานจริงและ
วิธีการแก้ไขปัญหา เตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานในอนาคต" และเมื่อถามถึงโปรเจค Start Up Idea น้องแนนก็เล่าให้ฟังต่อว่า "ตั้งแต่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจคนี้ สมาชิกในกลุ่มก็มีการประชุม หาหัวข้อที่แต่ละคนสนใจ และนำไปเสนอกับพี่ๆในแผนก ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า จะทำเรื่อง Structured note on Website เพราะในปัจจุบันนักลงทุนเกือบ 100 % นิยมลงทุนโดยการซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ พวกหนูจึงคิดว่าการทำ structured note on website นอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยลดภาระการทำงานของพนักงานในบริษัทฯได้อีกด้วย ซึ่งพอพวกหนูนำแผนงานไปเสนอให้ทางผู้บริหารฟัง ทุกท่านก็ดูพอใจและชื่นชม มันทำให้พวกหนูดีใจและรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากค่ะ"
และช่วงเวลา 2 สัปดาห์สุดท้ายของการฝึกงาน นศ.ฝึกงานจะต้องสร้างสรรค์โครงการซีเอสอาร์ซึ่งพวกเขาเลือกทำโครงการ "BLS มอบรัก ปันรอยยิ้ม" หรือโครงการมอบความรัก ความห่วงใยแก่ผู้สูงอายุ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์คนชราที่ได้รับความยากลำบากและประสบปัญหาทางสังคมให้ได้มีที่อยู่อาศัย
น.ส. ธัชดาวดี อมาตยกุล หรือน้องดี นักศึกษาฝึกงานชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสังคมศาสตร์ สาขาการเงิน กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการนี้ว่า "โครงการ BLS มอบรัก ปันรอยยิ้ม เป็นการร่วมจัดกิจกรรมสันทนาการ และมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันนักศึกษาฝึกงานและพนักงานในบริษัทฯ โดยมีการระดมทุนจากการตั้งกล่องรับบริจาคเงินและสิ่งของ รวมไปถึงการจำหน่ายคูปองชิงโชคและเสื้อการกุศล ส่วนตัวหนูเองรู้สึกดีใจมากที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ เพราะนอกจากได้ร่วมสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้สูงอายุแล้ว หนูยังได้รับประสบการณ์ดีๆอีกหลายอย่าง ที่คิดว่าหาจากที่ไหนไม่ได้ ทั้งพี่ๆในแผนกก็น่ารักอบอุ่น รู้สึกประทับใจกับที่นี่จริงๆ ค่ะ"
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงแค่ 2 เดือนแต่เรามั่นใจว่าหลักทรัพย์บัวหลวงได้มอบทั้งความอบอุ่น ความรู้ และประสบการณ์ที่ดีให้กับน้องนักศึกษาฝึกงานทุกคนอย่างเต็มที่ เพราะที่นี่ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นที่พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ให้เป็นผู้นำในทุกด้าน แต่ยังมุ่งเน้นที่จะผลิตนักศึกษาฝึกงานให้มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวมต่อไป