นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงการติดตามสถานการณ์ปลูกอ้อยอินทรีย์ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอน และสร้างรายได้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ส่วนใหญ่ ปลูกมากที่อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอแกดำ อำเภอกุดรัง อำเภอนาเชือก และอำเภอวาปีปทุม
จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) พบว่า โครงการผลิตอ้อยอินทรีย์ของจังหวัดมหาสารคาม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ283 ราย พื้นที่ประมาณ 4,554 ไร่ ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 90 ราย รวมพื้นที่ 1,502 ไร่ ได้ผลผลิตอ้อยอินทรีย์ 15,086 ตัน ส่งให้กับโรงงานน้ำตาลวังขนาย จังหวัดมหาสารคาม โดยทางโรงงานได้แปรรูปเป็นน้ำตาลออร์แกนิค จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจำหน่ายในต่างประเทศประเทศ ประมาณ 70% ในประเทศแถบเอเชียและยุโรป ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โอเซียเนีย และนิวซีแลนด์ และอีก 30% จำหน่ายภายในประเทศ และโรงงานยังมีแผนเพิ่มความต้องการอ้อยอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิค ส่งจำหน่ายให้พอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ นายฉัตรมงคล กล้วยภักดี เกษตรกรในโครงการอ้อยอินทรีย์ ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์ตนเองว่า มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ ใช้ปลูกอ้อยและทำนาข้าวเพื่อการบริโภค ต่อมาปี 2557ได้เข้าร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์ เพราะเห็นว่าการปลูกอ้อยแบบใช้สารเคมีทั่วไป ดินเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จึงหันมาทำอ้อยอินทรีย์ โดยเริ่มจากแปลงแรกจำนวน 5.86 ไร่ ปัจจุบันปีการผลิต 2560/61 มีพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์จำนวน 20 ไร่ สามารถส่งอ้อยเข้าหีบได้ 300 ตัน หรือเฉลี่ย 15 ตัน/ไร่ ได้ค่าความหวานเฉลี่ย 12.88 CCS และต่อมาได้ทยอยขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน และยังเผยถึงเทคนิคการปลูกอ้อยอินทรีย์ ซึ่งได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำแบบสายน้ำหยดในช่วงปลูกใหม่และช่วงอ้อยตอ (แบบสปริงเกอร์) การให้ปุ๋ยคอกจากมูลสุกรขุนที่เลี้ยงเองแบบธรรมชาติ การป้องกันโรค - แมลง โดยการฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพสูตรสมุนไพรไล่แมลงร่วมด้วย รวมทั้งการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อช่วยทุ่นแรงในการเข้ากำจัดวัชพืช ร่วมกับการสางใบเพื่อใช้ทำปุ๋ย เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
นอกจากนี้ เพื่อการลดต้นทุนค่าพันธุ์ นายฉัตรมงคล ยังได้จัดทำแปลงแม่พันธุ์ (อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3) แยกไว้ใช้เองอีก 3 ไร่ เพื่อนำไปเป็นท่อนพันธุ์สำหรับเพาะปลูกลงแปลง ส่งผลให้ต้นทุนผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาท/ไร่ ซึ่งเปรียบเทียบกับอ้อยเคมีทั่วไปเฉลี่ยที่ 5,000 บาท/ไร่ โดยยังมีเทคนิคเฉพาะ ต่างๆ อีก เช่น การปลูกอ้อย 1 ครั้ง จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีแรก และอ้อยตอจะใช้แค่ตอที่ 1 เท่านั้น เพราะมีเครื่องจักรกลการเกษตรทุ่นแรง ทำให้สามารถเตรียมดินสำหรับการปลูกใหม่ได้บ่อยครั้งซึ่งให้ผลดีกว่า และมีแผนจะปรับเปลี่ยนนาข้าวอีกบางส่วนเพื่อมาปลูกอ้อยอินทรีย์เช่นกัน ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำแนะนำได้ที่ นายฉัตรมงคล กล้วยภักดี ได้ที่เบอร์โทรศัพท์087 852 6448 ซึ่งยินดีให้คำแนะนำถึงเทคนิคการปลูกต่างๆ จากประสบการณ์ตนเองแก่เพื่อนเกษตรกรทุกท่าน