กระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดค้นเพื่อการต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา ก็คือการทำ R&D (Research & Development) หากแปลตรงตัวก็คือการวิจัยและการพัฒนา โดยกระบวนการR&D นี่เองที่จะสามารถค้นหาคำตอบ โอกาส ความเป็นไปได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ และเป็นกุญแจสำคัญช่วยไขประตูสู่อนาคตที่สดใสแก่ธุรกิจได้ไม่ยาก
R&D คืออะไร?
R&D คือการวิจัยเชิงประยุกต์ที่ใช้ได้ในทุกประเภทสินค้า มุ่งเน้นการนำผลวิจัยที่ได้ไปพัฒนาให้มีความเป็นรูปธรรม มีลำดับขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนและกระบวนการการทำงานที่ต่อเนื่อง เมื่อได้ผลการวิจัยจนนำมาสู่การพัฒนาตัวอย่างสินค้าออกมาเป็นหนึ่งชิ้นงาน จึงมีการตรวจสอบประสิทธิผลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
R&D เหมาะกับใคร?
การทำ R&D เหมาะสมกับผู้ประกอบทั่วไปที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ของตนเอง อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรแปรรูป หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ปประเภทอื่นก็สามารถทำ R&D ได้ แต่ขั้นตอนหรือวิธีการก็จะแตกต่างกันไปตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงเฉพาะแค่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถทำ R&D ได้ เพราะนอกจากนั้น นักวิชาการ หรือสถาบันการศึกษาที่มีผลงานวิจัยที่สำเร็จรูปแล้ว แต่อยากต่อยอดผลการวิจัยนั้น ๆ ไปสู่เชิงพาณิชย์ก็สามารถนำกระบวนการ R&D มาใช้ได้เช่นกัน
R&D เริ่มต้นอย่างไร?
กระบวนการทำ R&D เริ่มต้นจากการระดมความคิดระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่ต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ท้องตลาดและกลุ่มที่สองก็ทีม R&D ซึ่งอาจเป็นบุคลากรภายในบริษัทหรือเป็นทีมงานจากบริษัทที่ปรึกษาภายนอก (Outsource) ซึ่งจะทำหน้าที่รับทราบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อนำไปวางแผนว่าจะเริ่มต้นทำการศึกษาวิจัยอย่างไรเมื่อได้ผลวิจัยที่ตกผลึกแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นชิ้นงานต่อไป
การทำ R&D ใช้เวลานานเท่าไร?
ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีผลงานวิจัยมาแล้วพร้อมพัฒนาผลออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการพาณิชย์ โดยทั่วไปมักใช้เวลาในการทำ R&D อย่างน้อย 3-5 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาปกติ ในกรณีผู้ประกอบที่มีเพียงความคิดริเริ่มแต่ยังไม่ผ่านกระบวนการวิจัยใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร แต่ยังไม่ผ่านกระบวนการสกัดสารใด ๆ จากพืชซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ก็จำเป็นต้องเริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ทั้งกระบวนการ อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากต้องใช้เวลาศึกษาคุณประโยชน์ของพืช หรือส่วนประกอบสำคัญที่ต้องการสารสกัดนั้น ๆแล้วแปรรูปสู่วัตถุดิบ แล้วจึงนำวัตถุดิบนั้นมาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง สรุปได้ว่าการใช้เวลาของกระบวนการ R&D ขึ้นอยู่กับความพร้อมขั้นพื้นฐานของผู้ประกอบการนั่นเอง
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ ก่อนนำกระบวนการ R&Dมาใช้ในธุรกิจ
จุดเริ่มต้นสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเข้าใจนั้น ก็คือต้องรู้ก่อนว่าผลิตภัณฑ์ที่ท่านต้องการผลิตออกสู่ท้องตลาดนั้นคืออะไร มีผู้บริโภคกลุ่มไหนเป็นเป้าหมายสำคัญของการขาย รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค และกระแสความนิยมของตลาดในเวลานั้น ๆ เป็นอย่างไรประมาณการต้นทุนไว้แล้วหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดกรอบแนวคิด วิธีการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท่าน ซึ่งข้อดีของการมีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว จะเอื้อประโยชน์ต่อการลดขั้นตอน ระยะเวลา รวมถึงลดต้นทุนในการทำ R&D ได้พอสมควร
นี่เป็นเพียงความรู้ขั้นพื้นฐานที่ทำให้ท่านเข้าใจภาพรวมของกระบวนการ R&D แต่ยังมีรายละเอียดอีกหลายแง่มุมที่ซับซ้อน ผู้ที่ขาดความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่ใจความของ R&D ก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ แค่หมั่นสอบถามความคิดเห็น ความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนา คอยอัพเดทเทรนด์สินค้า ทำการตลาดให้น่าสนใจ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าท่านได้ทำ R&D เพื่อต่อยอดความสำเร็จแก่ธุรกิจได้แล้ว