เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2561 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) จ.นครราชสีมา / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตามนโยบาย "วิทย์สร้างคน" เตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างขีดความสามารถไปสู่การแข่งขัน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส.และผู้บริหาร มทส.มาร่วมงานพร้อมนักเรียนที่อยู่ในโครงการกว่า 2,600 พันคน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงการการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นการดำเนินการร่วมกับระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ มทส.ตามนโยบาย "วิทย์สร้างคน" ไปสู่การรองรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต นำไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศในด้านอื่นๆ ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประชากรที่กำลังจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็น Knowledge Worker โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักนวัตกร แม้ที่ผ่านมาระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จะเป็นวิชาพื้นฐานที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา แต่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของนักเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และมีผลคะแนนการสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระดับประเทศที่ตกต่ำ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรที่จะให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว สนุก และจับต้องได้ ให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเอาแรงบันดาลใจต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการเหล่านี้ มาประดิษฐ์เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในเชิงนวัตกรรม ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดไปเป็นสตาร์ทอัพ (Start Up) เป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี เป็นนวัตกร เพื่อจะได้เป็นตัวขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงผลักดันนโยบาย "วิทย์สร้างคน" ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่นำมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าวคือ การจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM) หรือที่เรียกว่า ระบบ "สะเต็มศึกษา"เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การศึกษาไทยและการศึกษาในประชาคมอาเซียน โดยตั้งเป้าจะพัฒนาเด็กไทยให้มีความสามารถระดับนานาชาติภายในปี 2570 ซึ่งจะวัดผลจากการสอบโอเน็ต โดยเป้าหมายนี้จะใช้ระบบ "สะเต็มศึกษา" เป็นกลยุทธ์หลักในการพัฒนา ซึ่งสะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจำทฤษฎีหรือกฎทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฎเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้ เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ตลอดจนมุ่งผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการงานค่ายแก่เยาวชน ได้นำนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประเภทห้องเรียนปกติ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,600 คน มาทำกิจกรรมที่สร้างและเสริมทักษะกระบวนการเรียนรู้วิชาการและการปฏิบัติการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ทักษะกระบวนการสำคัญทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะภาษาต่างประเทศ เพื่อนำทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกมส์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการประดิษฐ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันและพัฒนาการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศและขยายโอกาสไปยังเยาวชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างโดยการจัดกิจกรรมค่ายบูรณาการการเรียนรู้ฐาน STEM เพื่อเยาวชนนครชัยบุรินทร์ ขึ้น โดยมุ่งหวังให้นักเรียนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง สะเต็มศึกษา มากยิ่งขึ้นและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป" ดร.สุวิทย์ฯ กล่าว
จากนั้น ดร.สุวิทย์ฯ ได้นั่งรถรางเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณและหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี