ดร.พจมานฯ กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับสินค้า OTOP ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเป้าหมายที่ได้ยกระดับ ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อที่จะนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งหลักๆเป็นกลุ่มทางด้านสิ่งทอ จะเป็นเสื้อกะเหรี่ยงและย่าม ด้านสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารจะเป็นสบู่และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นมาผลิต จากการดำเนินงานดังกล่าว เราได้เก็บตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. เราจึงนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีกระบวนการตั้งแต่การอบรม การถ่ายทอดเชิงลึก เมื่อทางผู้ประกอบการไปพัฒนาสินค้าแล้วเราก็เก็บตัวอย่างเพื่อไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ผลก็คือผลิตภัณฑ์ผ่านตามมาตรฐาน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการส่วนนี้มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อจากนั้นเราจึงมาตรวจติดตามและมอบวัสดุ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาวัสดุไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ในขั้นตอนต่อไปก็จะพาผู้ประกอบการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเปิดตลาดที่เชียงใหม่หน้าห้างสรรพสินค้าเมญ่า บริเวณนิมมานเหมินทร์ ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนี้ ต่อจากนั้นจะคัดกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีความพร้อมในด้านผลิตภัณฑ์ เชิญชวนไปจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ เพื่อให้สินค้าออกสู่ท้องตลาดได้กว้างมากยิ่งขึ้น ส่วนการต่อยอดอีกขั้นเราจะนำผู้ประกอบการที่มีคุณภาพกลุ่มนี้ไปยื่นจดทะเบียนได้มาตรฐาน มผช. อย่างเต็มรูปแบบเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการได้ดาวถึงขั้นห้าดาวต่อไป
นางพวงทอง ชื่นกรมรักษ์ ประธานกลุ่มแปรรูปผ้าทอสารภี กล่าวว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 22 คน ผลิตงานเสื้อผ้าจากฝ้ายและกระเป๋า ก่อนหน้าพบปัญหาในด้านการเย็บ การติดซิปไม่เรียบร้อย ย้อมผ้าสีตกมาก ผ้าโดนแดดสีจางและเนื้อผ้าแข็งไม่อ่อนนุ่ม พอมีโครงการนี้เกิดขึ้นก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ลงพื้นที่มาแนะนำกระบวนการด้านการผลิตที่ถูกต้อง นำหลักทางวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่ม อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กระเป๋าของกลุ่มมีการยื่นขอมาตรฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ยังไม่เคยผ่านมาตรฐาน หลังจากนี้จะยื่นขอมาตรฐานอีกครั้งทางกลุ่มมีความมั่นใจว่าจะผ่านมาตรฐาน มผช.อย่างแน่นอน