นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้จัดประชุมตัวแทนสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ 40 สหกรณ์ทั่วประเทศ และสหกรณ์ที่เป็นฝั่งผู้สั่งซื้อและกระจายสินค้า จำนวน 20 แห่ง เพื่อร่วมกันหารือและจัดทำแผนในการกระจายและขนส่งผลไม้ของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่าน ๆ มา โดยต้องเร่งระบายผลไม้ออกจากแหล่งผลิตให้เร็วที่สุด เนื่องจากสหกรณ์ได้มีการรวบรวมผลไม้และส่งจำหน่ายให้กับห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดส่งออก และตลาดภายในประเทศ ซึ่งตลาดภายในประเทศจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ในการกระจายผลไม้ ระหว่างสหกรณ์ต้นทางกับสหกรณ์ปลายทางที่ไปทำหน้าที่กระจายผลไม้ให้สมาชิกสหกรณ์ ส่วนราชการ ตลอดจนตลาดปกติในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนที่จะกระจายผลไม้ให้ถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพ เน้นประหยัดและลดต้นทุนในการขนส่งให้กับสหกรณ์ต้นทาง ซึ่งหากมีการวางแผนที่ดีจะทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลไม้ในราคา ที่ไม่สูงนัก และเกษตรกรก็ขายผลผลิตได้ราคาดี ที่สำคัญยังเป็นการป้องกันไม่ให้พ่อค้าคนกลางมากดราคาจากเกษตรกรผู้ผลิตตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้น กรมฯจึงต้องใช้ช่องทางสหกรณ์ในการดูดซับผลผลิตออกมาจากในพื้นที่ก่อน
ทั้งนี้โครงการกระจายผลไม้โดยกลไกสหกรณ์ ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 11 เป็นปีแห่งการต่อยอด ในส่วนของเอกชนที่มารับซื้อผลผลิตจากสหกรณ์ปลายทาง ก็ไม่มีปัญหาในการตกลงซื้อขายระหว่างกัน และทำให้มีความมั่นใจว่าเอกชนรายใดเชื่อถือได้หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเน้นให้สหกรณ์ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ เพราะตลาดมีความต้องการอีกจำนวนมาก ซึ่งจะต้องปรับทิศทางให้ชัดเจนและช่วยทำให้กลไกการตลาดทำงานได้เต็มที่
"การประชุมครั้งนี้เป็นการทบทวนกลไกในการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งต้องมาประมวลผลว่ามีปัญหาอุปสรรคในเรื่องใดและมีวิธีการดำเนินการที่ดีกว่านี้หรือไม่ โดยได้ข้อยุติว่าแหล่งผลิตผลไม้เมื่อผลผลิตออกมา ต้องมีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และให้ข้อมูลล่วงหน้ากับสหกรณ์ปลายทาง เพื่อจะได้เตรียมการกระจายผลผลิตรองรับไว้ เช่น หาตลาดรองรับ หารถสำหรับขนส่ง การจัดหาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ซึ่งหากทุกอย่างจัดเตรียมไว้พร้อมก็จะทำให้ผลไม้ยังคงความสดใหม่ เมื่อไปถึงปลายทางจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายยกสินค้าขึ้นลง อีกทั้งผู้บริโภคจะได้ผลไม้สดมีคุณภาพ" นายเชิดชัย กล่าว
สำหรับสถานการณ์ผลไม้ในขณะนี้ ตลาดปลายทางไม่เกี่ยงเรื่องราคาหากสินค้ามีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้จะต้องแนะนำให้สมาชิกผลิตผลไม้ให้ได้คุณภาพมากขึ้น คือ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวต้องตัดแต่งกิ่ง การใช้ปุ๋ยบำรุงต้น การดูแลรักษา ส่วนการกำจัดแมลงก็ต้องใช้วิธีธรรมชาติ เน้นที่ความปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี
"มติจากที่ประชุมสหกรณ์เห็นตรงกันว่า สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้จะกำหนดราคาผลไม้เอง เช่น ทุเรียนภูเขาไฟ จากศรีษะเกษ ลำไยสีชมพู จากลำพูน น่าน เชียงราย เชียงใหม่ หรือจะเป็นลองกองตันหยงมัส จากนราธิวาส สหกรณ์ผู้ผลิตจะมีการกำหนดราคาขายล่วงหน้า และมีการเพิ่มช่องทางตลาดผลไม้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปีหน้าน่าจะขยายได้อย่างตัวรูปแบบ โดยมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย เป็นตัวเชื่อมในการขนส่งและเก็บเงินโดยระบบ Payment ลูกค้าสามารถสั่งของได้ที่ทำการไปรษณีย์ และทางระบบออนไลน์ ส่วนระยะเวลาขนส่งผลไม้ถึงมือผู้บริโภคอยู่ที่ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับผลไม้แต่ละชนิด" นายเชิดชัย กล่าว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ กรมฯได้ประสานความร่วมมือกับทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยให้สหกรณ์เป็นผู้รวบรวมสินค้าส่งให้ไปรษณีย์ ซึ่งจะเน้นลำไยจากจังหวัดลำพูนและเงาะโรงเรียนนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการดำเนินการในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับดีมาก ทำให้สหกรณ์ต้นทางซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ต้องปิดรับออเดอร์ก่อนกำหนด เพราะผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากผลไม้ทั้งสองชนิดแล้ว ยังได้ขยายไปถึงมังคุดด้วย ซึ่งสหกรณ์จะบริหารจัดการผลผลิตทั้งหมดทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อลำไยตัดช่วงบ่ายของวัน จะต้องบรรจุกล่องและไปรษณีย์ต้องขนส่งไปยังปลายทางในทันที เพื่อจะได้ส่งผลไม้สดใหม่ถึงมือผู้บริโภคภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งการวางระบบการขนส่งสินค้าได้รวดเร็วจะทำให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและเกิดการสั่งซื้อผลไม้ของสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปีหน้าการใช้ช่องทางไปรษณีย์ในการระบายผลผลิตสู่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับอย่างดีเหมือนเช่นในปีที่ผ่าน ๆ มา