ธุรกิจ 4.0 ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

ศุกร์ ๑๔ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๓:๒๙
นายสุภัค ลายเลิศ

กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

ถึงนาทีนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลนับเป็นความท้าทายอย่างมากของผู้มีอำนาจตัดสินใจขององค์กรที่ต้องก้าวให้พ้นวิธีคิดและแบบแผนทางธุรกิจแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างโอกาสและความอยู่รอดในท่ามกลางพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร้ขอบเขต และตลอดเวลาด้วยพลังของเทคโนโลยี

เราจึงได้เห็นโมเดลทางธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค 4.0 ซึ่งหยิบเอาเทคโนโลยี ไอทีรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งสื่อสารส่งต่อผ่านทุกช่องทางเพื่อเข้าถึงและซื้อใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด ดังเช่น โมเดลทางธุรกิจแนวใหม่ ที่เรียกว่า "บริการภิวัฒน์ หรือ Servitization" ซึ่งจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ผลิต "สินค้า" เพื่อขายเพียงอย่างเดียว ไปสู่การเป็นผู้เสนอ "บริการ" และให้ "ข้อแนะนำ" ที่รอบด้านเกี่ยวกับสินค้าแบบพร้อมสรรพให้กับลูกค้า หรือ การริเริ่มกลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ ที่เข้าถึงพฤติกรรมของลูกค้า ณ ปัจจุบัน ซึ่งนิยมการ "ชม ช็อป และ แชร์" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ "ซื้อและบอกต่อ" ที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในแบบฉบับของ ไวรอล มาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing) เป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยน จึงเป็นความจำเป็นที่แต่ละองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีไอทีที่ตอบโจทย์สถานการณ์ได้อย่างเท่าทัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าในการพัฒนามาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการจัดการธุรกิจ การเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บข้อมูลของสตอเรจ หรือการเพิ่มพลังการเชื่อมโยงของเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สาย ระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เพื่อเสริมแกร่งงานหลังบ้าน ขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องมองหาแนวทางในการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับงานหน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงสินค้าและบริการส่งตรงไปยังลูกค้า ตลอดจนสร้างมูลค่าและความแตกต่างทางการตลาด ด้วยนวัตกรรมไอทีใหม่ ๆ ในแบบ เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Technology ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างยาวนาน และส่งผลให้เกิดการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบที่แปลกใหม่ และแตกต่างไปจากอดีต รวมถึงการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถทำงานได้ใกล้เคียงสมองของมนุษย์ ดังที่เราได้รู้จัก หรือได้ใช้งานไปบ้างแล้ว เช่น เอไอ บิ๊ก ดาต้า คลาวด์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยองค์กรยุค 4.0 ในการสร้าง "ทางเลือก" ใหม่ ๆ ทางธุรกิจให้สามารถคว้า "ชัยชนะ" เหนือคู่แข่งท่ามกลางสงครามการค้าดิจิทัลที่รุนแรงขึ้นในทุกขณะ

สิ่งหนึ่งที่เราต่างรับรู้กันดีว่า อาวุธลับสำคัญในการจุดพลุความสำเร็จของธุรกิจยุค 4.0 คือ ข้อมูล นั่นหมายถึง องค์กรจะต้องมีการเตรียมตัวสำหรับการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ และควรมองไปข้างหน้าถึงการจัดการข้อมูล บิ๊ก ดาต้า (Big Data) เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ทุกองค์กรต่างเผชิญกับปริมาณของกลุ่มข้อมูลที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ขณะเดียวกันก็จะไม่จำกัดอยู่แค่การจัดการข้อมูลแบบโดด ๆ ที่ใช้งานภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเติมเต็มการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายระหว่างองค์กรกับลูกค้า ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทางธุรกิจหลัก เสริมสร้างรายได้ และลดต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากนี้ องค์กรต่างคาดหวังประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของข้อมูล บิ๊ก ดาต้า ที่จะถูกใช้ไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรใน การวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อการทำนายผลที่แม่นยำ (Advanced Analytics and Predictive) ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การต่อยอดกลยุทธ์ตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือการประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง และมีผลต่อการปรับปรุงรูปแบบสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิม ตลอดจนสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่โดนใจลูกค้าจนไม่อาจเปลี่ยนใจไปหาคู่แข่งได้

เมื่อ "ข้อมูล" มีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจยุค 4.0 การดูแลรักษาข้อมูลให้มีความมั่นคงปลอดภัยก็มีความสำคัญมากตามไปด้วยเช่นกัน และหนึ่งในแนวทางของการปกป้องข้อมูลที่จะมีบทบาทสำคัญมากขี้นเรื่อย ๆ คือ บล็อกเชน (Blockchain) แต่เริ่มเดิมที บล็อกเชนเข้ามาสู่ตลาดในฐานะเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง บิตคอยน์ (Bitcoin) ในบทบาทของการดูแลสกุลเงินดิจิทัล นั่นทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า บล็อกเชน ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับธุรกิจบริการทางการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว บล็อกเชนถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้าง "ระบบความปลอดภัยที่ดีให้กับฐานข้อมูล" ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ และทุกอุตสาหกรม แนวคิดคือ การแบ่งการจัดเก็บฐานข้อมูล โดยตั้งเป็นบัญชีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Ledger) แยกกันไป กิจกรรมที่เกิดขึ้นในบัญชีธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของบล็อกข้อมูล แต่จะถูกร้อยรวมให้เห็นเป็นข้อมูลชุดเดียว กรณีเกิดปัญหาไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม ความเสียหายจะถูกจำกัดอยู่เฉพาะบล็อกข้อมูลของบัญชีธุรกรรมนั้น ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อบล็อกข้อมูลอื่น ๆ ที่อยู่ในบัญชีเดียวกัน หรือต่อบัญชีธุรกรรมอื่น ๆ ตรงจุดนี้ เราจะเห็นภาพว่า บล็อกเชนจะช่วยองค์กรในการบริหารแนวทางการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในแต่ละบัญชีธุรกรรมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน บล็อกข้อมูลเหล่านี้จะถูกกระจายการจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพื่อให้เราเข้าถึงบัญชีธุรกรรมของตัวเองผ่านระบบการระบุตัวตนได้โดยไม่จำเป็นต้องมี "ตัวกลาง" มาช่วยจัดการ ดังนั้น การบันทึก ตรวจสอบความซ้ำซ้อน และรับรองกิจกรรมหรือธุรกรรมว่าเกิดขึ้นจริง จึงสามารถทำได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีความเป็นส่วนตัว และมีความปลอดภัยสูง

และด้วยปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้าสู่ยุคของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก และเชี่ยวชาญกับงานหลากหลายรูปแบบในแนวทางที่สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้มากกว่าการสร้างสีสันที่หวือหวาในรูปของสินค้ากัดเจ็ทเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาอย่างแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี มองว่า เทคโนโลยีเอไอ จะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนการพยากรณ์แนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเกิดในอนาคตได้แม่นยำมากกว่าเดิม ช่วยในเสริมสร้างและปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าต่อสินค้าและบริการขององค์กร ตัวอย่างของกูเกิล ซึ่งใช้เอไอในการควบคุมระบบการใช้ไฟฟ้าในศูนย์ข้อมูล การเปิด อเมซอน โก ร้านสะดวกซื้อแห่งแรกแบบไร้พนักงานและแคชเชียร์ แต่ใช้แมชชิน เลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของเอไอในการดำเนินการ การพัฒนาเอไอในรูปของหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อช่วยการผ่าตัดผู้ปวย หรือใช้ทำงานแทนมนุษย์ในขั้นตอนอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจที่สามารถนำเอไอไปประยุกต์ใช้ หรือสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ ย่อมเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างแน่นอน

ส่วนความสามารถในการสร้างโลกแห่งความจริงไว้ในโลกดิจิทัลในรูปแบบความจริงเสมือน ที่เรียกว่า เออาร์ (Augmented Reality) หรือ วีอาร์ (Virtual Reality) จะถูกใช้ประโยชน์ไปกับการ "ลดต้นทุนทางธุรกิจ" ยุค 4.0 มากขึ้น หากมองในเชิงการขายและการตลาด ลองนึกภาพการสร้างรูปจำลองของสินค้าในโลกดิจิทัลที่ลูกค้าสามารถเพิ่มเติมรูปแบบ หรือตกแต่งสีสันของสินค้าได้เสมือนจริง และตรงกับรสนิยมของตนเองผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้งสนุกและดึงดูดใจ และยังส่งผลทางจิตวิทยาในการกระตุ้นให้การตัดสินใจซื้อได้ง่ายดาย และรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยองค์กรในการปรับลดจำนวนการผลิตสินค้าตัวอย่าง ลดทั้งการใช้พื้นที่ในการจัดแสดงสินค้า หรือ หากจะมองในมุมของอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนาตัวสินค้าผ่านเทคโนโลยีความจริงเสมือนอย่างเออาร์ หรือ วีอาร์ จะช่วยป้องกันข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการออกแบบตัวสินค้า ตลอดจนการกำหนดวัสดุการผลิตที่ถูกต้องครบถ้วนก่อนเริ่มต้นกระบวนการผลิตจริง เป็นต้น

เมื่อยุค 4.0 เป็นยุคที่เทคโนโลยีและข้อมูลมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด องค์กรธุรกิจจึงต้องไม่ลืมอัพเดทการจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลให้พอเหมาะกับการเติบโตของธุรกิจอยู่เสมอ ซึ่งเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนง่ายและรวดเร็วตามต้องการ และอยู่กับองค์กรธุรกิจมาสักระยะหนึ่งแล้ว ได้แก่ คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เทคโนโลยีนี้ช่วยเปิดช่องให้องค์กรธุรกิจได้เข้าถึงสมรรถนะการทำงานของคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชันต่าง ๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ และทำให้องค์กรเหล่านั้นสามารถจัดระเบียบและแบ่งปันทรัพยากรไอทีให้ตรงกับความต้องการ ทั้งการใช้งานพื้นฐาน หรือ การใช้งานเฉพาะด้านได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายด้วยตัวเอง และโดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องศึกษาความรู้ในเชิงเทคนิคมากมายนัก ซึ่งองค์กรธุรกิจที่มีความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากร สามารถเลือกลงทุนสร้างระบบบริการคลาวด์ไว้ใช้ส่วนตัว ส่วนองค์กรขนาดย่อม ทุนน้อย ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงองค์กรขนาดใหญ่ โดยเลือกใช้บริการคลาวด์สาธารณะ เพื่อการเริ่มต้นหรือขยายโอกาสทางธุรกิจได้ทันที หรือจะเลือกวิธีแบบผสมผสานการใช้งานคลาวด์ทั้งสองแบบ ที่เรียกว่า ไฮบริด ก็ย่อมได้

ขณะเดียวกัน ไอโอที หรือ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์(Internet of Things) ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ธุรกิจ 4.0 "ไม่มีไม่ได้แล้ว" ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรของเราเข้ากับผู้คน ลูกค้า สังคม และสิ่งต่าง ๆ ด้วย "ข้อมูล" ซึ่งไอโอทีได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาระบบเน็ตเวิร์คที่ต่อยอดจากการ "การเชื่อมต่อการทำงานระหว่างอุปกรณ์พื้นฐานในระบบไอที" ไปสู่การสร้าง "เครือข่ายสื่อสารระยะไกล" ด้วยพลังของอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรับมือกับข้อมูลที่ล้นหลาม สามารถยึดโยงและส่งผ่านซึ่งข้อมูลและธุรกรรมต่าง ๆ แบบออนไลน์ไร้สายไปถึงลูกค้าเป้าหมาย ปัจจุบัน ระบบไอทีที่ใช้งานอยู่เดิม หรือเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างเอไอ เออาร์ หรือ คลาวด์ ล้วนถูกพัฒนา หรือต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานบนฐานของไอโอที เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลหรือบริการที่ต้องการได้ทันที ในทางกลับกัน องค์กรก็สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลและพฤติกรรมการใช้งานผ่านช่องทางไอโอเพื่อนำไปพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการที่แตกต่างแต่ตรงใจลูกค้า หรือกระทั่งการใช้เพื่อไอโอทีส่งเสริมการทำงานภายในองค์กร ดังเช่น การใช้ประโยชน์ในเรื่องของเซ็นเซอร์ (Sensor) เพื่อสร้างระบบตรวจสอบอัจฉริยะเพื่อเติมเต็มประสิทธิภาพการผลิตที่มีผลต่อการลดต้นทุนการดำเนินงานขององค์กร เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีอนาคตที่ชวนให้จับตามองส่งท้าย คือ คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computing) อันสืบเนื่องมาจากการที่เราเกิดจินตภาพว่า โลกในยุค 4.0 และต่อจากนี้ไป จะเต็มไปด้วยกลุ่มข้อมูลจำนวนมหาศาลในระดับบิ๊ก ดาต้า หรือ เมตาดาต้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่จะนำมาใช้ประมวลผลข้อมูล ณ ปัจจุบัน คงไม่พอ จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการปรมวลผลโดยอาศัยคุณลักษณะการทำงานในระดับอะตอมมาใช้ เพื่อให้เกิดการทำงานพร้อมกันหลาย ๆ งานในเวลาเดียวกัน รวมถึงสามารถสื่อสารส่งต่อข้อมูลได้ไกลและรวดเร็ว ผลลัพธ์ก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานที่รวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นร้อยล้านพันล้านเท่า และน่าจะพอเหมาะต่อการรับมือกับข้อมูลที่มีปริมาณมาก และมีความหนาแน่นของข้อมูลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้วันนี้ ต้นแบบคอมพิวเคอร์ควอนตัมยังคงอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาในห้องแล็ป แต่เชื่อว่า เราจะได้เห็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเร็วเกินจินตนาการในอีกไม่นาน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ส่งผลกระทบ (Disruptive) ต่อผู้คนและองค์กร ทั้งรูปแบบวิธีคิด ไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิต และกระบวนการดำเนินธุรกิจ องค์กรในยุค 4.0 จึงไม่ควรมองข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญทางเทคโนโลยี รวมถึงมองเป้าหมายของการลงทุนพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ไกลและรอบด้าน ทั้งเพื่อการเสริม "ความแข็งแกร่งของธุรกิจ ณ ปัจจุบัน" และเตรียมการให้พร้อมสำหรับ "ธุรกิจเกิดใหม่ในอนาตต" เพราะองค์กรที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วและเท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ย่อมสูญเสียตำแหน่งผู้นำในการแข่งขัน หรือพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งที่สามารถปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจได้ถ้วนทั่วทั้งสินค้า บริการ และกลยุทธ์การตลาดที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนไปตลอดกาล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version