ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกติดต่อในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามบริเวณต่างๆ โรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมากคือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝนและโดยเฉพาะหลังน้ำลด พบผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงในอาชีพเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำในแปลงนาที่มักจะมีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคสูง ทั้งนี้ อาการของโรคที่พบคือมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปนหรือตัวเหลืองตาเหลือง เนื่องจากเยื้อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้
"จากการรายงานสถานการณ์โรคฉี่หนูของกลุ่มระบาดวิทยา สคร. 12 สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 สถานการณ์โรคฉี่หนูในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง รายงานผู้ป่วยแล้วจำนวน 265 ราย เสียชีวิต 4 ราย พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในจังหวัดสงขลา จำนวน 70 ราย เสียชีวิต 1 ราย รองลงมาคือจังหวัดยะลา พบผู้ป่วยจำนวน 66 ราย เสียชีวิต 3 ราย และจังหวัดตรังพบผู้ป่วยจำนวน 63 ราย"
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู วัว และควายอาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน หากแช่น้ำหรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายโดยทันที นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด และหากมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อหลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ทันที
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันหรือการดูแลผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422