นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตเข้ารับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2561 จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งในปีนี้กรมสุขภาพจิต มีผลงานการพัฒนาระบบบริการประชาชนและได้รับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร. รวม 6 ผลงาน ประกอบด้วยสาขาบริการภาครัฐ 5 ผลงาน และสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 1 ผลงาน สาขาบริการภาครัฐ 5 ผลงาน แบ่งดังนี้ ประเภทการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องได้รับ 2 ผลงาน คือ โครงการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลกลางผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย ( Data Center ) โดยสำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ และการพัฒนาระบบสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งพัฒนาคุณภาพงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ปี
กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รางวัลประเภทนี้ถึง 2 รางวัล และประเภทการพัฒนาการบริการระดับดี 3 ผลงาน
ได้แก่
1. การพัฒนาระบบบริการดูแลป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องในชุมชน โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ สามารถลดอัตราป่วยซ้ำทางจิตจากเดิมเฉลี่ย 1.34 ครั้งต่อคนต่อปี เหลือ 0.45 ครั้งต่อคนต่อปี 2. การพัฒนางานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชร่วมกับแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม โดย รพ.ศรีธัญญา เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้ป่วยจิตเวชที่อาการรุนแรงซับซ้อน โดยฟื้นฟูคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ควบคู่การสร้างทักษะและพรสวรรค์ผู้ป่วยสู่การมีอาชีพ มีรายได้ ขณะนี้ได้เปลี่ยนสถานะผู้ป่วย 142 คนจากภาระให้เป็นพลังสังคม
และ 3.การดูแลเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาถึงบ้านบริการทุกมิติ โดยสถาบันราชานุกูล ส่งผลให้เด็กกว่าร้อยละ 90 สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้นอย่างน้อย 1 ปี ส่วนครูและผู้ปกครองมีสุขภาพจิตดีขึ้นร้อยละ 98
สำหรับรางวัลสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ( Public Management Quality Award: PMQA ) กรมสุขภาพจิตได้รับรางวัลรายหมวด ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานขององค์กรและการจัดการความรู้
โดยมีผลงานเด่นในด้านการพัฒนาข้อมูลและความรู้สู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อบริการประชาชน 2 เรื่อง คือ การพัฒนานวัตกรรม "ซน 7 สี " เพื่อใช้ตรวจคัดกรอง ประเมินและวินิจฉัยเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น ซึ่งมีประมาณ 4 แสนคน ให้ได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างเหมาะสม ทันท่วงที และการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง อาการรุนแรงซับซ้อน ในชุมชนแบบไร้รอยต่อ โดยพัฒนาเป็นโปรแกรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้เฝ้าระวัง ติดตามดูแลและส่งต่อผู้ป่วยจิตเวช ให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องในพื้นที่เขตสุขภาพ ไม่ขาดยา ไม่ก่อความรุนแรง ซึ่งกำลังใช้ทั่วประเทศในขณะนี้
ทั้งนี้รางวัลประเภทการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง 2 ผลงาน เป็นงานที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้รับรางวัลประเภทการพัฒนาบริการในระดับดีเด่นมาแล้วเมื่อปี 2558 คือโครงการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลกลางผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิตได้ใช้ระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชในระบบอิเล็คทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือบริหารจัดการติดตามการเข้าถึงบริการผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศ อัพเดทข้อมูลทุกเดือนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการด้านสุขภาพจิตของประเทศ ซึ่งจะพัฒนาเป็นฐานข้อมูลใหญ่หรือบิ๊ก ดาต้า ( Big Data ) เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขในยุค 4.0 ต่อไปส่วนการพัฒนาระบบสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นระบบการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชด้วย เชื่อมโยงระหว่างรพ.จิตเวช เรือนจำ และรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทุกจังหวัด
ตั้งแต่เข้าสู่เรือนจำต่อเนื่องไปจนหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันปัญหาขาดยา หรือก่อคดีซ้ำ ผลงานในปี 2560 มีผู้ต้องขังได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูกว่า 4,000 คน ร้อยละ 90 เป็นโรคทางจิต ที่พบมากคือโรคจิตเภท รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า ร้อยละ 7 พยายามฆ่าตัวตายร้อยละ 1 ในปี 2561 นี้ได้ขยายผลประยุกต์ใช้ดูแลเด็กที่กระทำผิดที่ป่วยจิตเวช ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย