สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ตั้ง“หน่วยข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน” (VIMU) ขานรับไทยแลนด์ 4.0

จันทร์ ๑๗ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๕:๑๗
สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯเดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสำรองวัคซีนเพื่อสร้าง ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ตั้ง"หน่วยข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน" (VIMU) ขานรับนโยบายไทยแลนด์4.0 เน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านวัคซีน เพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ ประกอบการตัดสินใจสำรองวัคซีนได้อย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์ ลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัคซีน

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า การมีวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัยและได้มาตรฐานไว้ใช้อย่างเพียงพอต่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินด้านโรคระบาดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลและการบริหารจัดการวัคซีนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการสำรองวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสำรองวัคซีนภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัคซีน ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสำรองวัคซีนแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้จัดตั้ง "ระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน" (Vaccine Information and Management System; VIMS) ตามแผนงานการพัฒนาระบบข้อมูลกลางเพื่อการบริหารจัดการสำรองวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์วัคซีน ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการจัดการวัคซีนให้มีความเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และทันการณ์

โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาแนวทางในการจัดตั้ง"ระบบข้อมูลกลางตลาดวัคซีน"(VMIS) เพื่อทำหน้าที่ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านวัคซีนจากทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา เช่น UNICEF SD, GAVI Alliance และ PAHO หน่วยงานในประเทศ เช่น กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นต้น รวมทั้งผู้ผลิตและนำเข้าวัคซีน โดยแบ่งกระบวนการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ที่มีการออกแบบโครงสร้างข้อมูลที่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงด้านตลาดวัคซีน คือ ปัจจัยด้านอุปสงค์ (Vaccine Demand) ได้แก่ สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศ (Country Health Profile) ภาระโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนและเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ จำนวนประชากร ความต้องการใช้วัคซีน ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะด้านวัคซีนของประเทศและนานาชาติ เช่น วัคซีนที่อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมคุ้มกันโรค วัคซีนที่อยู่ในโครงการรณรงค์หรือโครงการกำจัดกวาดล้างโรค เป็นต้น และปัจจัยด้านอุปทาน (Vaccine Supply) ได้แก่ ข้อมูลผลิตภัณฑ์วัคซีน ข้อมูลผู้ผลิตและผู้นำเข้าวัคซีน และปริมาณวัคซีนภายในประเทศ เป็นต้น

ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า ระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน (VIMS) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านตลาดวัคซีนของประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพตลาดวัคซีน (Market Dynamism) ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะเป็นระบบข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยดำเนินการ อย่างเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า "Big Data" และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) หรือวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นการพัฒนาองค์กรให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งโลกถูกเชื่อมต่อถึงกันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้า ทำให้การทำงานมีความต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง นับว่าเป็นการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล โดยการใช้ Digital Transformation

"ทั้งนี้คาดว่าในปี 2562 จะเริ่มมีการนำระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีนเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ด้านวัคซีน โดยจะเริ่มใช้กับวัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เป็นโมเดลแรก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ในการวางแผนการสำรองวัคซีนให้มีความเหมาะสม ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดแคลนวัคซีน และเป็นประโยชน์สำหรับผู้ผลิตวัคซีนในการเตรียมการผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการของประเทศที่จะนำไปใช้ในการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์แผนงานด้านการใช้วัคซีนในอนาคตได้ต่อไป" ดร.นพ.จรุงกล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ